แบงก์ชาติมาเลย์เผย ขรก. ใช้เงินเดือนกว่าครึ่งไปกับหนี้สิน

รายงานการทบวนเสถียรภาพทางการเงิน ในหัวข้อ “ภาระหนี้ของข้าราชการพลเรือน : ความเสี่ยงภัยและการพิจารณานโยบาย” ของธนาคารกลางมาเลเซีย ที่ทำการศึกษาจากข้าราชการพลเรือน 1.26 ล้านคน จากทั้งสิ้น 1.6 ล้านคน เผยแพร่เมื่อวันที่ 27 กันยายน เผยให้เห็นถึงภาวะหนี้ของข้าราชการพลเรือนมาเลเซียที่ต้องใช้เงินเดือนมากกว่าในแต่ละเดือนไปกับการชำระหนี้สินที่มีอยู่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ข้าราชการเหล่านี้มีสภาพคล่องทางการเงินที่จำกัด ปัญหานี้ปรากฎเด่นชัดในกลุ่มข้าราชการที่มีอัตราเงินเดือนต่ำกว่า 5,000 ริงกิต (ราว 40,000 บาท)

รายงานการศึกษาชี้ว่า หลังจากพิจารณาการใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นพื้นฐานในแต่ละเดือนและหนี้ผูกพันที่มีอยู่ จะทำให้ข้าราชการเหล่านี้มีเงินคงเหลือเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 360-586 ริงกิต (ราว 2,800-4,800 บาท) เท่านั้นในแต่ละเดือนสำหรับการใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นอื่นๆได้ การศึกษายังพบว่าการกู้หนี้ยืมสินของข้าราชการส่วนใหญ่หรือคิดเป็นเกือบ 47 เปอร์เซ็นต์ เป็นไปเพื่อการใช้จ่ายส่วนตัว หนี้รถยนต์ หนี้บัตรเครดิตและอื่นๆ ซึ่งสูงกว่าหนี้เฉลี่ยทั่วประเทศที่มี 35 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหนี้ที่อยู่อาศัยคิดเป็น 49 เปอร์เซ็นต์ของหนี้ของข้าราชการพลเรือนทั้งหมด

ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของข้าราชการพลเรือนอยู่ในระดับต่ำกว่าเมื่อเทียบกับผู้กู้เฉลี่ยทั่วประเทศ และแม้ว่าประเด็นนี้ในขณะนี้ยังก่อความเสี่ยงภัยทางการเงินในวงจำกัดก็ตาม แต่ก็อาจจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญทางด้านสังคม-เศรษฐกิจขึ้นตามมาได้ ทั้งนี้จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ภาวะหนี้ของข้าราชการพลเรือนมาเลเซียอยู่ที่ 236,000 ล้านริงกิต เทียบเท่ากับ 20 เปอร์เซ็นต์ของหนี้ภาคครัวเรือน หรือคิดเป็น 17 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

ธนาคารกลางมาเลเซียยังเรียกร้องทิ้งท้ายให้รัฐบาลเร่งดำเนินความพยายามในการจัดหาที่อยู่อาศัยที่ข้าราชการมีกำลังซื้อหาได้และปรับปรุงตลาดให้เช่าที่อยู่อาศัยให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งด้วย