แผนลึก คสช.ต่อ ประชาธิปัตย์ ทั้งดูด ทั้งดึง และ แยกสลาย

ความสัมพันธ์ระหว่าง “คสช.” กับ “พรรคประชาธิปัตย์”กำลังมีปัญหาและนับวันปัญหายิ่งทวีความแหลมคม ร้อนแรงมากยิ่งขึ้น กระทั่งอาจเกิดคุณภาพใหม่ขึ้น

เป็นคุณภาพซึ่งจะกำหนดทิศทางใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์

ก่อนและหลังรัฐประหารคสช.อาจถือว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพันธมิตรเพราะว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นสะพานเชื่อมที่สำคัญ

แต่ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งท่าทีและความสัมพันธ์ระหว่างคสช.กับ พรรคประชาธิปัตย์ยิ่งมีระยะห่าง

โดยเฉพาะยุทธศาสตร์”สามก๊ก”จาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เพราะในความเป็นจริง คสช.ต้องการให้เหลือเพียง 2 ก๊กระหว่างคสช.กับพรรคเพื่อไทยเท่านั้น

 

แรกที่ได้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ มาเป็นพันธมิตรผ่านพรรครวม พลังประชาชาติไทย ยุทธวิธีของคสช.ต่อพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ

1 พยายามดึง 1 พยายามแยกสลาย

ดึงให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นองคาพยพหนึ่งในแนวต้านพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเรียกว่า”ระบอบทักษิณ”หรืออะไรก็ตาม

แต่เมื่อดึงให้เป็นพวกยุ่งยากจึงพยายามบ่อนเซาะ ทำลาย

นั่นก็เห็นได้จากการดูดเอาคนของพรรคประชาธิปัตย์ 1 ดูดเข้ามาโดยตรงดังกรณีของ นายสกลธี ภัททิยกุล นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และที่กำลังดูดจากหลายพื้นที่ในภาคกลาง

1 ใช้พรรครวมพลังประชาชาติไทยเป็นเครื่องมือทั้งด้วยการดูดเอาคนจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนและส่ง”หุ่นเชิด”ไปแย่งยึดการนำภายในพรรค

เป้าหมายขั้นสุดท้ายก็คือ สร้างความมั่นใจว่าจะได้พรรคประชาธิปัตย์มายืนเรียงเคียงข้างกับพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย

เป็นหลักประกันในการสืบทอดอำนาจของคสช.

 

ก่อนการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นภายในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นภายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 คสช.ต้องการความมั่นใจ

1 ความมั่นใจผ่าน”พรรคพลังประชารัฐ”

ขณะเดียวกัน 1 ความมั่นใจผ่าน”พรรครวมพลังประชาชาติ ไทย”และ”พรรคประชาธิปัตย์”

วางน้ำหนัก พลังประชารัฐ รวมพลังประชาชาติไทย ประชาธิปัตย์ ตามยุทธศาสตร์ 20 ปี