เปิด 4 ทัศนะ นับถอยหลัง 3 เดือนกับการกลับมาของกระทรวงอุดมศึกษา

หนึ่งในวาระที่เป็นที่น่าจับตาหนึ่งของประเทศไทยคือวาระการนับถอยหลัง 3 เดือนกับโอกาสในการตั้งกระทรวงอุดมศึกษาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเดินหน้ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สู่ Thailand 4.0 แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นประเด็นสำคัญคือการกำหนดโครงสร้าง  การกำหนดบทบาท หน้าที่  ที่ยังคงมีทิศทางที่ไม่ชัดเจน อาจมีความซ้ำซ้อน  ดังนั้นการเกิดขึ้นของกระทรวงดังกล่าวต้องมาพร้อมการพัฒนาที่ดีขึ้น ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสิ่งสำคัญทุกหน่วยงานต้องสามารถปรับตัว  ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ อันจะสามารถสู่เป้าหมายสูงสุดคือการบรรลุเป้าหมายช่วยคนไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของอนาคตได้

 

“โครงสร้างกลุ่มงานกระทรวงอุดมฯ ต้องชัดเจน ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีอะไรแตกต่าง”

รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล ที่ปรึกษาที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้ประเทศไทยอาจจะมีกระทรวงใหม่ อาจจะมีชื่อว่า “กระทรวงอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม” หรือ กระทรวงอุดมศึกษา อันเกิดจากแนวคิดการพัฒนาด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีอย่างบูรณาการเข้าด้วยกัน  โดยมีการกำหนดให้มีการควบรวมหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้การศึกษา งานวิจัยและพัฒนา สร้างนวัตกรรม  ซึ่งสิ่งหนึ่งที่สำคัญนอกจากการผลักดันให้เกิดกระทรวงดังกล่าวคือการกำหนดทิศทาง และโครงสร้างของกระทรวงใหม่  โดย ทปอ. เสนอให้พิจารณาโครงสร้างของกระทรวงดังกล่าวควรกำหนดโครงสร้างกระทรวงเป็น 3 กลุ่มงาน  ดังนี้

กลุ่มงานที่ กลุ่มงานนโยบาย มีหน้าที่กำกับดูแลนโยบาย สนับสนุนการทำงาน และการให้ทุนสนับสนุนงานวิจัย กำหนดนโยบายวางรากฐานเพื่อการพัฒนาประเทศในอนาคต (Foundation of The Future)

กลุ่มงานที่ กลุ่มงานด้านวิจัยและนวัตกรรม มีบทบาทในการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสังคม ซึ่งต้องบูรณาการตามกรอบที่กำหนดไว้ใน ร่าง พ.ร.บ.การวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม มุ่งเน้นปฏิรูประบบวิจัยเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาพื้นฐานทางนวัตกรรมของประเทศ และระบบข้อมูลเพื่อการพัฒนาของประเทศ

กลุ่มงานที่ กลุ่มงานด้านการอุดมศึกษา  ทำหน้าที่พัฒนากำลังคน สร้างงานวิจัย บริการวิชาการ ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ที่กำหนดไว้ใน ร่าง พ.ร.บ. การอุดมศึกษา ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการอุดมศึกษา มุ่งเน้นการเพิ่มบทบาทหน้าที่ในการพัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพสูงทั้งในวัยเรียนและวัยทำงาน ปรับกระบวนการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขเวลาของการประกอบร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงใหม่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่กำลังจะหมดวาระในเดือนพฤศจิกายน 2561 ถ้านับจากวันนี้ จึงเหลือเวลาอีกเพียง 3 เดือนเท่านั้น

 

“ต้องกำหนดบทบาทการทำวิจัยที่ไม่ซ้ำซ้อน และบูรณาการกันให้ได้จริง”

ขณะที่ รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงความคืบหน้าในการผลักดันร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 4 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม     ร่าง พ.ร.บ.บริหารราชการกระทรวง      ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา และร่าง พ.ร.บ.การวิจัย ซึ่งขณะนี้มีบางส่วนได้ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไปแล้ว ขณะที่บางฉบับอยู่ในระหว่างปรับปรุงแก้ไข ซึ่งส่วนตัวมองว่าการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันตามเป้าหมาย โดยรัฐบาลจะต้องเร่งผลักดันกฎหมายทั้ง 4 ฉบับให้เสร็จสิ้นภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 ส่วนการทำงานเพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมภายใต้กระทรวงใหม่ว่า จะต้องคำนึงถึงการนำไปใช้ได้จริงเป็นหลัก ประชาชนและสังคมต้องได้ประโยชน์ ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนา ต้องปรับตัวทั้งระบบ สถาบันวิจัยต่างๆ ที่มีอยู่ ต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน ขณะเดียวกันการทำงานของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา ก็ต้องมีการปรับตัวอย่างมากเช่นกัน ทั้งในเรื่องของการพัฒนาระบบการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตร ต้องมีเป้าหมายและมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ว่าจะเดินหน้าไปอย่างไร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของประเทศได้

“การพัฒนาคนให้พร้อมสู่ศตวรรษที่ 21 ได้ จะต้องใช้องค์ความรู้ที่เรามีอยู่ในขณะนี้นำมาต่อยอดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เน้นการนำไปใช้จริง เน้นงานวิจัยนวัตกรรมชั้นสูง ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม สร้างมูลค่าเพิ่มทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ที่สำคัญ คือ การประสานการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ จะช่วยลดปัญหาความซ้ำซ้อนไม่ให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญของประเทศที่ทำให้เกิดการควบรวมครั้งใหญ่นี้ ” รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม กล่าวในตอนท้าย

 

มหาวิทยาลัยต้อง “รีโปรไฟล์” 

ด้าน ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวเสริมว่า การจัดตั้งกระทรวงใหม่ ต้องยึดเป้าหมายของการปฏิรูปเป็นหลัก คือการผลักดัน Thailand 4.0 ให้เกิดขึ้น มุ่งเน้นการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความหลากหลายตามความต้องการของประเทศ ซึ่งการตั้งกระทรวงใหม่เป็นเพียงหลักการที่ตั้งไว้เท่านั้น แต่หัวใจสำคัญ คือ การทำงานจะต้องบูรณาการกันให้เกิดผล และต้องวางระบบให้ชัดเจน บางหน่วยงานอาจต้องปรับบทบาท เช่น อาจารย์ในมหาวิทยาลัย จะต้องมีงานสอนให้น้อยลง แต่มุ่งเน้นการฝึกฝนให้ผู้เรียนลงมือทำงานจริงได้

สถาบันอุดมศึกษา จะต้องเผชิญกับความท้าทายในอนาคต และถูกกดดันให้ปรับตัว ซึ่งทางออกของการ “Reprofiling” ในกลุ่มของมหาวิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษา คือจะต้องทำงานเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยมากขึ้น เร่งพัฒนาคนในวัยทำงาน และผู้สูงอายุด้วย ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรไม่มีปริญญา หลักสูตรระยะสั้น เพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้เพื่อการนำไปต่อยอดในการทำงาน ควบคู่กับหลักสูตรปริญญาที่มีอยู่แล้ว อาจารย์จะต้องมีบทบาทมากกว่าการวิจัย ต้องเน้นนำไปต่อยอดในภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาสังคมมากขึ้น เพื่อให้มีความเข้มแข็ง และสามารถอยู่รอดได้ในความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง

 

“ในอนาคตการวิจัยจะเป็นรายได้หลักของมหาวิทยาลัยไม่ใช่การสอนหนังสือ”  

ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม กล่าวเสริมว่า  เป็นโอกาสและสถานการณ์ที่เหมาะสมในการปรับเปลี่ยนระบบภายในของสถาบันอุดมศึกษา ที่ต้องปรับจากการหารายได้จากการสอนนักศึกษา และการหารายได้จากงานวิจัย ซึ่งการตั้งเป้าหมายบทบาทในอนาคตของมหาวิทยาลัยที่จะประสบความสำเร็จได้  คือ จะต้องมีบทบาทเพื่อสังคมมากขึ้น นำงานวิจัยไปเชื่อมโยงสู่การใช้งานจริง แต่ถ้าในระหว่างทางนั้น ประสบกับปัญหาอุปสรรคอย่างไร ก็ควรหันหน้าเข้าหากันเพื่อหาทางออกร่วมกัน เพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเรื่องนี้ ไม่ใช่ปัญหาของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นภาระของคนทั้งโลก ซึ่งกระทรวงใหม่จะได้ร่วมกันขับเคลื่อน เพราะถ้ามองในภาพรวมทุกกลุ่มอุตสาหกรรมในโลกนี้ มีการเปลี่ยนแปลงหมด เช่นเดียวกัน หากวันนี้สถาบันการศึกษาไม่ถูกผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย นั่นหมายถึง บทบาทของสถาบันการศึกษานั้น ย่อมไม่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

“การปรับโครงสร้าง การควบรวม เป็นทั้งวิกฤติและโอกาส แต่การปรับตัวอย่างมาก และต้องรวดเร็วด้วย”

อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งกระทรวงใหม่จะมีบทบาทสำคัญในการพลิกโฉมประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 พัฒนาประเทศไทยให้มีความก้าวหน้า ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ และสามารถดำเนินงานจนบรรลุเป้าหมายของชาติ คือ การพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ให้มีทักษะขั้นสูง เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทุกกลุ่ม รวมถึงการช่วยคนไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของอนาคตได้