ปธ.ที่ปรึกษา ทปสท.แนะแจ้งความ-ยื่น ป.ป.ช.สอบ-ใช้ ม.44 ฟันมหา’ลัยอุ้มอธิการฯ 60 ปี

จากกรณีที่นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) หารือร่วมกับนายกสภามหาวิทยาลัย และอุปนายกสภามหาวิทยาลัย จำนวน 58 แห่ง เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะส่งผลต่อสถาบันศึกษาของรัฐที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดี และที่อยู่ระหว่างกระบวนการเสนอแต่งตั้ง ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) กาญจนบุรี ในการประชุมครั้งที่ 11/2551 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2551 ที่แต่งตั้งนายปัญญา การพานิช เป็นผู้รักษาการแทนอธิการบดี มรภ.กาญจนบุรี โดยวินิจฉัยว่า การแต่งตั้งรักษาการแทนอธิการ มรภ.กาญจนบุรี เป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย โดยเสียงในที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่า พ.ร.บ.ได้กำหนดให้อธิการบดีจะต้องพ้นจากตำแหน่งได้ในกรณีใดบ้าง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับมีอายุ 60 ปี ขณะเดียวกันคำสั่งศาลจะมีผลผูกพันเฉพาะกรณีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม นายสุภัทรเตรียมเสนอ 4 แนวทางให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พิจารณาแก้ไขปัญหานั้น

เมื่อวันที่ 16 กันยายน นายวิริยะ ศิริชานนท์ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) เปิดเผยว่า ไม่ขอวิจารณ์ผลการหารือระหว่างนายสุภัทรกับนายกสภา และอุปนายกสภา เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการ ศธ., สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสภามหาวิทยาลัย ต้องพิจารณาให้ดี ซึ่งกรณีนี้ศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสินออกมาแล้วควรดำเนินการอย่างไร แล้วต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่

“การปฏิบัติตามกฎหมายเป็นหน้าที่สำคัญของประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2561 ซึ่งผมเองพร้อมปฏิบัติตามกฎหมายทุกอย่างในฐานะประชาชนคนไทย ดังนั้น เรื่องนี้หากยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ทั้งรัฐมนตรีว่าการ ศธ., สกอ.และสภา ต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ ว่าถ้าผู้ที่ขาดคุณสมบัติ ไม่ใช่ข้าราชการ และอายุเกิน 60 ปีมาเป็นอธิการบดีแล้ว หากมีปัญหากระทำความผิดทางละเมิด หรือมีการทุจริตเกิดขึ้น สกอ., รัฐมนตรีว่าการ ศธ.และสภา จะรับผิดชอบอย่างไร” นายวิริยะ กล่าว

นายวิริยะกล่าวต่อว่า ทปสท.คงต้องนำเรื่องนี้หารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ถ้าเป็นตนจะแก้ปัญหาโดยยึดคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดเป็นหลัก ส่วนอธิการบดีที่อายุ 60 ปีแล้วยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ ควรจะลาออกหรือไม่ เรื่องนี้คงตอบไม่ได้ ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของแต่ละมหาวิทยาลัย ว่าจะรับชอบต่อสังคมมากน้อยแต่ไหน

นายรัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ปรึกษา ทปสท.กล่าวว่า ยืนยันว่าจะเดินหน้าให้มีการดำเนินการตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด โดยจะเสนอให้ ทปสท.ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวโทษสภา และรัฐมนตรีว่าการ ศธ.กรณีไม่ดำเนินการตามกฎหมาย หลังรับทราบแล้วว่ามีอธิการบดีที่ดำรงตำแหน่งโดยขัดต่อกฎหมาย ตามที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษากรณี มรภ.กาญจนบุรี

นายรัฐกรณ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในส่วนของมหาวิทยาลัยที่มีอธิการบดีที่อายุเกิน 60 ปี จะต้องมีคนยื่นเรื่องถึงสภาให้ดำเนินการตามกฎหมาย โดยถอดถอนอธิการบดีที่มีอายุ 60 ปี ออกจากตำแหน่ง หากสภามหาวิทยาลัยไม่ดำเนินการตาม ให้เดินหน้าแจ้งความ และยื่นให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ ถือว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

“เห็นชัดเจนว่าผลการประชุมระหว่าง สกอ.และสภา เป็นการอุ้มอธิการบดีทั้ง 22 แห่ง ส่วนหนึ่งเพราะอธิการบดี, สกอ.และสภา มีผลประโยชน์เอื้อต่อกัน คณะกรรมการ กกอ.เข้าไปนั่งเป็นกรรมการสภาหลายแห่ง ดังนั้น จึงถือว่ามีผลประโยชน์เอื้อต่อกัน ทั้งที่ความจริงแล้ว สภามีอำนาจเต็มที่ในการถอดถอนอธิการบดี โดยอ้างคำสั่งศาลปกครองสูงสุด” นายรัฐกรณ์ กล่าว

นายรัฐกรณ์กล่าวอีกว่า ขณะที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.สามารถใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาตรา 44 ข้อ 2 ในกรณีที่ปรากฏว่าการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษา กรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษา หรืออธิการบดี ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มีอำนาจยับยั้งการแต่งตั้ง หรือการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งบัดนี้ปรากฎชัดแล้วว่ามีอธิการบดีที่ดำรงตำแหน่งโดยขัดต่อคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ต้องใช้อำนาจดังกล่าวดำเนินการกับอธิการบดีที่ขาดคุณสมบัติ” นายรัฐกรณ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันมีอธิการบดีที่มีอายุเกิน 60 ปี และอยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ จำนวน 22 แห่ง ใน มรภ., มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) มหาวิทยาลัยอื่นๆ