“อุตตม”จี้หน่วยงานเอสเอ็มอีสรุปผลความช่วยเหลือก่อนปล่อยแพคเกจช่วยชุด2

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานกำกับดูแลผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) อาทิ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ เร่งสรุปผลมาตรการความช่วยเหลือเอสเอ็มอีในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาว่าประสบความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง มีอะไรเป็นตัวชี้วัด โดยให้เสนอกลับมาภายในเดือนกันยายนนี้ ก่อนที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะจัดทำมาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอีระยะ 2 ที่มีทั้งวงเงินสินเชื่อ และมาตรการทางความรู้ อาทิ เครื่องมือประกันความเสี่ยงค่าเงิน(เฮจจิ้ง)สำหรับเอสเอ็มอี ซึ่งทั้งหมดจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เดือนพฤศจิกายนนี้

นายอุตตมกล่าวว่า เครื่องมือประกันความเสี่ยงค่าเงิน(เฮจจิ้ง)สำหรับเอสเอ็มอี ล่าสุดมีการหารือร่วมกับตัวแทนจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ และตัวแทนสมาคมธนาคารไทย ถึงความคืบหน้าการจัดทำเครื่องมือประกันความเสี่ยงค่าเงิน โดยธสน.เสนอให้มีการเพิ่มวงเงินเพิ่มวงเงินคูปองประกันความเสี่ยงเป็น 50,000 บาทจากปัจจุบัน 30,000 บาท เพื่อกระตุ้นเอสเอ็มอีให้มีการประความเสี่ยงค่าเงินมากขึ้น ส่งผลต่อการประกอบกิจการที่มีประสิทธิภาพ ล่าสุดได้ให้ธสน.ไปจัดทำรายละเอียดและกลับมาเสนอตนอีกครั้ง ก่อนเสนอครม.

นายอุตตมกล่าวว่า ธสน.ยังรายงานผลดำเนินงานโครงการการจัดเครื่องมือประกันความเสี่ยงสำหรับเอสเอ็มอีตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน2560-มิถุนายน2561 พบว่ามีเอสเอ็มอีที่ทำนำเข้าและส่งออกที่เข้าร่วมโครงการเพียง 2,600 ราย คิดเป็นมูลการทำประกัน 55 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเอสเอ็มอีทั่วประเทศที่นำเข้าและส่งออกรวม 56,000 ราย แสดงให้เห็นว่าผลตอบรับจากเอสเอ็มอีที่ร่วมโครงการยังน้อย

นอกจากนี้จากแบบประเมินผลความเข้าใจต่อการทำเฮจจิ้งพบว่า เอสเอ็มอี34%เพิ่มขึ้น และ60%เข้าใจปานกลาง แบบประเมินยังพบว่ามีเอสเอ็มอีสนใจหรือวางแผนทำเฮจจิ้งเพียง 31% ดังนั้นหลังจากนี้ธสน.จะปรับแผนการทำงาน ให้ความรู้ จะไม่เน้นแค่กลุ่มที่มีโอกาสทำเฮจจิ้งเท่านั้น แต่ลงไปถึงเอสเอ็มอีทั่วไปที่เริ่มหรือสนใจส่งออก ขณะเดียวกันก็จะมีการให้ความรู้ด้านอื่น อาทิ ระบบบัญชีเดียว