หลากปฏิกิริยาต่อรายงานยูเอ็น จัดไทยคุกคามนักปกป้องสิทธิฯอย่างน่าละอาย

วันที่ 16 กันยายน 2561 หลังจากที่ นายอันโตนิโอ กูแตเรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็น แถลงรายงานเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงรายงานสำหรับการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น โดยประกาศรายชื่อ 38 ประเทศ ที่มีพฤติกรรมน่าละอาย ด้วยการตอบโต้หรือข่มขู่บุคคลที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน โดยบรรดาประเทศที่ปฏิบัติคุกคาม ยังมี ไทย รวมอยู่ด้วย

รายงานดังกล่าว คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น กลไกหลักที่ขึ้นตรงกับสมัชชาใหญ่ยูเอ็น จัดทำขึ้นและเลขาธิการยูเอ็นเป็นผู้รายงาน โดยนายกูแตเรสกล่าวตอนหนึ่งว่า ที่โลกของเราเป็นหนี้บรรดาผู้คนที่กล้าจะลุกขึ้นมาสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน บุคคลที่คอยให้ข้อมูลและทำงานร่วมกับสหประชาชาติเพื่อให้แน่ใจได้ว่าสิทธิในการมีส่วนร่วมของพวกตนจะได้รับการเคารพ การลงโทษบุคคลที่ให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติเป็นพฤติกรรมที่น่าละอาย

อย่างไรก็ตาม จากรายงานข่าวที่นำเสนอไปโดยเฉพาะประเทศไทยที่ถูกจัดกลุ่ม ได้ก่อเกิดปฏิกิริยาต่างๆ โดยเฉพาะกับรัฐบาล คสช. ที่แสดงท่าทีเห็นต่างต่อรายงานดังกล่าว

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบเรียบร้อย(คสช.) กล่าวว่าการรับฟังข่าวสารทางสังคม ช่วงนี้ ต้องใช้วิจารณญาณพอสมควร พบมีบางบุคคลยังคงพยายามหยิบยกเหตุการณ์ ในวาระต่างๆ บางมุม บางข้อมูล มาแสดงความคิดเห็น หรือทัศนคติส่วนตัว เพื่อให้เกิดผลกระทบกับความน่าเชื่อถือ รัฐบาล และ คสช.

พ.อ.วินธัย กล่าวต่อว่า ซึ่งกรณีเรื่องรายงานประจำปีของผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะนำไปใช้ประกอบการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นนั้น เนื้อหาในรายงานอ้างว่ามีการปฏิบัติไม่ดีต่อนักสิทธิมนุษยชน โดยระบุถึงกรณีนายไมตรี จำเริญสุขสกุล และ น.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริ (ทนายจูน) และมีกรณีเรื่องติดตามจากรายงานของปีที่แล้ว เช่น กรณีฟ้องร้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภายใต้

“ซึ่งทั้งสามกรณี ไม่น่าเกี่ยวข้องกับความร่วมมือในด้านสิทธิมนุษยชน เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมาตลอด ปัจจุบันได้มีการจัดทำมาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยได้พัฒนากระบวนการ กลไก และมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้ได้รับความปลอดภัยและสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพในการปฏิบัติงานอย่างดี” โฆษก คสช.กล่าวและว่าจากข้อมูลที่ได้ทั้ง 3 กรณีเป็นลักษณะเหตุเฉพาะบุคคล ที่มีกรณีเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมาย จึงอาจมีการการดำเนินการเป็นไปตามหลักกฎหมายปกติ เช่น กรณีที่เคยมีการฟ้องร้องนักสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภายใต้ ก็เป็นเรื่องที่ทางองค์กรหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ถูกนักสิทธิมนุษยชนละเมิดในเรื่องภาพลักษณ์ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานที่มีความละเอียดอ่อน

พ.อ.วินธัย กล่าวอีกว่า ข้อมูลในรายงานมีที่มาอยู่ในกรอบที่จำกัด หรืออาจมีที่มาจากเพียงบุคคลเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ส่วนการมีบางบุคคลนำประเด็นมาขยายผลใช้ในมุมที่เป็นลบนั้น เท่าที่มีข้อมูล พบว่าจะเป็นกลุ่มบุคคลเดิม เชื่อสังคมปัจจุบันส่วนใหญ่รู้เท่าทัน และมีพัฒนาการในการรับฟังเรื่องราวต่างๆ อย่างมีเหตุผลโดยอาศัยวิจารณญาณที่สมดุลเพียงพอ ไม่โอนเอียงไปตามกระแสเป้าหมายนัยยะทางการเมืองของบางบุคคล

ด้าน น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศขอชี้แจงว่า รายงานดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยนายแอนดรู กิลมอร์  ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อใช้ประกอบในการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นการจัดทำและนำเสนอรายงานตามกระบวนการของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ที่มีการจัดทำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ตามข้อมติของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ที่ 12/2 โดยนายกิลมอร์จะเป็นผู้นำเสนอรายงานต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ในวันที่ 19 กันยายนนี้

น.ส.บุษฎีกล่าวว่า รายงานระบุสถานการณ์ในประเทศต่าง ๆ ในปีนี้ รวม 29 ประเทศ และมีประเทศที่ต้องติดตามจากปีที่แล้วอีก 19 ประเทศ รวมทั้งไทย โดยในส่วนของไทยในปีนี้ ได้แก่ กรณีนายไมตรี จำเริญสุขสกุล และ น.ส. ศิริกาญจน์ เจริญศิริ (ทนายจูน) และมีกรณีติดตามจากรายงานปีที่แล้ว เช่น กรณีฟ้องร้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภายใต้ อย่างไรก็ดีกรณีที่กล่าวถึงข้างต้นไม่เกี่ยวข้องกับการให้ความร่วมมือกับกลไกด้านสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด โดยการดำเนินการเป็นไปตามหลักกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ไทยไม่มีนโยบายหรือเจตนาจะคุกคาม ข่มขู่ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จึงได้มีการจัดทำมาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยได้พัฒนากระบวนการ กลไก และมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้ได้รับความปลอดภัยและสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพในการปฏิบัติงานและการดำรงชีวิตได้ โดยที่ผ่านมา รัฐบาล โดยกระทรวงยุติธรรม ได้มีการดำเนินการหลายประการ อาทิ การแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนามาตรการในการคุ้มครองนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิด การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวางกรอบแนวทางในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การจัดทำคู่มือสำหรับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกละเมิดหรือมีความเสี่ยงต่อการถูกละเมิด และการจัดทำรายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิ เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนรายงานนายกรัฐมนตรีรายสัปดาห์ นอกจากนี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 และจะบรรจุประเด็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ใน ปี พ.ศ. 2562 – 2566 รวมทั้ง นายกรัฐมนตรีได้จัดตั้งคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานกรรมการ

รายงานสถานการณ์ความร่วมกับยูเอ็น ตัวแทนของยูเอ็น และกลไกด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น ซึ่งเป้นที่มาของการจัดกลุ่ม 38 ประเทศรวมถึงไทย โดยในรายงานฉบับนี้ระบุว่า “เป็นรายงานของเลขาธิการยูเอ็น (นายกูแตเรส)”

แม้ทางรัฐบาลไทยจะมีท่าทีเช่นนี้ต่อรายงานฉบับดังกล่าว แต่สำหรับนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คณะทำงานเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ตามที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เปิดเผยรายงานประจำปี แจงรายชื่อ 38 ประเทศว่าเป็น ประเทศที่น่าละอาย โดยอ้างว่ามีการปฏิบัติไม่ดีต่อนักสิทธิมนุษยชนหรือผู้ให้ความร่วมมือกับกลุ่มสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในนั้นคือ ประเทศไทย ที่เพิ่งถูกระบุชื่อด้วยในปีนี้ เป็นเรื่องที่เสื่อมเสียแก่ประเทศอย่างมาก และสะท้อนถึงพฤติกรรมของรัฐบาลใน 4 ปีที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี การที่ไทยติดเป็นประเทศน่าละอายนี้

“นอกจากจะทำลายภาพพจน์ของประเทศแล้วยังทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ ทำให้การลงทุนต่างประเทศที่มีน้อยอยู่แล้วยิ่งหดหายลดลงไปอีก ไม่ได้มีเพิ่มขึ้นมากเหมือนที่รัฐบาลพยายามบอก ตัวเลขการลงทุนแท้จริงไม่ได้เพิ่มและยังน้อยกว่าตอนก่อนการปฏิวัติมาก ซึ่งไม่อยากให้ไทยเป็นเหมือนประเทศเมียนมาร์ที่แต่แรกมีแนวโน้มที่ดีหลังการเลือกตั้ง แต่มาเจอเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนจนทำให้การลงทุนจากต่างประเทศหดหาย ประเทศเมียนมาร์เลยไม่พัฒนาเท่าที่ควร” นายพิชัย กล่าว

นายพิชัยกล่าวอีกว่า การที่รัฐบาลโดย นายกรัฐมนตรี โฆษกรัฐบาล กระทรวงต่างประเทศ พยายามจะปฏิเสธว่าไม่เป็นเรื่องจริง ยิ่งจะทำให้ประเทศน่าละอายเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะตลอด 4 ปีนี้ ประชาคมโลกได้รับรู้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของไทยมาโดยตลอด เพราะนอกจากการปฏิบัติไม่ดีต่อนักสิทธินนุษยชนและผู้ให้ความร่วมมือแล้ว ประชาชนไทย และ ประชาคมโลก ยังจำได้ว่า มีการดำเนินคดีผู้เห็นต่างจำนวนมาก มีการดำเนินคดีนักศึกษาขณะเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ จับประชาชนเรื่องมีขันแดงและมีปฏิทิน ห้ามแสดงความคิดเห็นที่ต่างจากรัฐบาลโดยมีการเรียกปรับทัศนคติ

ส่วน น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กล่าวว่า เป็นท่าทีที่น่าละอาย เหมือนคนทำผิดที่ถูกจับได้คาหนังคาเขาแล้วยังกล้าแก้ตัว แถลงการณ์ดังกล่าวของยูเอ็นไม่ได้มีขึ้นลอยๆ แต่มีหลักฐานชัดเจนเป็นคดีที่คนทำงานด้านสิทธิถูกตั้งข้อหาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการปกป้องสิทธิ เช่นทนายจูน ทนายสิทธิที่ถูกดำเนินคดีเพราะปกป้องสิทธิในการรักษาโทรศัพท์ของลูกความตัวเองคือนักศึกษาและนักกิจกรรมที่เพิ่งถูกจับจากการรณรงค์ประชามติ หรือนักสิทธิมนุษยชนที่ถูกตั้งข้อหาจากการเผยแพร่รายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

“นี่คือตัวอย่างของกรณีที่นำสู่การแถลงของยูเอ็นในครั้งนี้ ซึ่งนับว่ายังน้อยมากเพราะยังไม่รวมกรณีการละเมิดสิทธิ์อีกมากมายที่เกิดขึ้นในปีนี้ รวมถึงการไม่ปลดล็อคการเมืองอันเป็นการบะเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองขั้นร้ายแรง ซึ่งคงจะได้เห็นการประนามจากนานาชาติกันอีกในรายงานใหญ่ครั้งถัดไป หากรัฐบาลรู้สึกอับอายก็ควรแก้ไข ไม่ใช่แก้ตัว” น.ส.ณัฏฐา กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง  พบกับนักปกป้องสิทธิฯ ในรายงานยูเอ็น หลังจัดไทยเป็นกลุ่มประเทศมีพฤติกรรมน่าละอาย