เพื่อไทย-ปชป. มองใช้โซเชียลหาเสียง มีแต่ได้-สะท้อนเทรนโลก 4.0

วันที่ 16 กันยายน 2561 หลังจากที่ คสช.ได้ออกคำสั่ง ที่ 13/2561 ไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ที่ผ่อนคลายการทำงานของพรรคการเมืองในส่วนของการจัดตั้ง หาสมาชิกและจัดเตรียมเลือกผู้ลงสมัครเป็น ส.ส.แต่ที่กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดคือประเด็น ห้ามหาเสียงบนโลกโซเชียล โดยในวันนี้ พรรคการเมืองใหญ่ 2 ค่ายอย่างประชาธิปัตย์และเพื่อไทยได้สะท้อนมุมมองต่อข้อห้ามที่เป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในช่วงเวลาที่โลกโซเชียลกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารที่สำคัญของโลกในเวลานี้

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ขอเรียกร้องไปยังคสช.ให้หารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ทบทวนคำสั่งคลายล็อกเพื่อเปิดโอกาสให้พรรคสื่อสารกับประชาชนและสมาชิกพรรคผ่านโซเชียลมีเดียได้ เนื่องจากการห้ามหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียได้กำหนดรายละเอียดไว้แบบกว้างๆ จึงถือว่าไม่เอื้อต่อสังคมที่การพัฒนาในการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร และในยุคไทยแลนด์ 4.0 ทั้งนี้ หากมีพรรคการเมืองหรือนักการเมืองดำเนินการไม่ถูกต้องก็มีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ควบคุมดูแลอยู่ เพื่อให้การดำเนินการพรรคการเมืองเป็นไปอย่างถูกต้อง และยังเป็นการสร้างบรรยากาศการทางการเมืองและประชาธิปไตย

“ท่ามกลางการเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นไม่ควรมีการปิดกั้นใดๆ เพราะคสช.และกกต.มีส่วนส่งเสริมประชาธิปไตยให้มีความคึกคักและสอดคล้องกับสิ่งที่กำลังเดินหน้าประเทศไปสู่การเลือกตั้งและได้รัฐบาลที่เป็นตัวแทนของประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถกำหนดอนาคตของตนเองและประเทศไทยต่อไป” นายองอาจ กล่าว

ส่วนทางฟากพรรคเพื่อไทยอย่าง นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า คำสั่งที่ 13/61 ที่ยังไม่ปลดล็อคอย่างเต็มที่ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมต่างๆได้ตาม กฎหมายพรรคการเมือง เช่นการไปประชุมรับฟังความเห็นประชาชนในการจัดทำนโยบาย การสื่อสารผ่านสื่อโซเชียลที่เป็นการหาเสียงยังถูกห้ามไม่ให้ทำ ซึ่งในแง่พรรคการเมืองนั้น ไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกันเพราะขาดโอกาสที่จะหาเสียงอย่างเท่าเทียม แต่ถ้าคิดกลับกัน และทำให้การเมืองไทยก้าวหน้า

“ตนเห็นว่าการปลดล็อคและการให้ใช้สื่อโซเชียลสื่อสารทางนโยบายจะทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์เนื่องจาก 1.พรรคจะมีเวลาไปพบปะประชาชนและฟังความเห็นมากลั่นกรองจัดทำนโยบาย ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งอีกไม่กี่เดือน การทำนโยบายที่ดีใช้เวลา อุปมาเหมือนการแกะสลักไม้ ไม่ใช่แค่ตัดไม้ทำท่อนซุง 2.ทุกพรรคจะแข่งกันทำนโยบายที่ดี เพื่อให้ประชาชนเลือก ไม่ใช่ไปเน้นแข่งที่ตัวบุคคล 3.ในหน้าสื่อและในสังคมจะมีวาระนโยบายมาถกเถียงกันมากขึ้น การเมืองจะถูกขับเคลื่อนด้วยวาระนโยบาย ไม่ใช่เสียเวลาถกเถียงกันเรื่องคลายล็อคหรือปลดล็อก 4.ประชาชนมีสิทธิที่จะรู้ว่ากึ๋นของแต่ละพรรคเป็นอย่างไร และมีสิทธิที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขา นอกจากนั้นประชาชนจะได้ติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามนโยบายได้ง่ายว่าหากเป็นรัฐบาลแล้วทำตามนั้นหรือไม่เพราะสิ่งที่พูดและเขียนมีบันทึกไว้ และ 5.การสื่อสารทางสื่อออนไลน์นั้นมีค่าใช้จ่ายน้อย สามารถเข้าถึงประชาชนได้ทั่วถึง จึงเอื้อให้แต่ละพรรคไม่ว่าใหญ่หรือเล็กแข่งขันอย่างเป็นธรรม ไม่ต้องใช้ดารามาช่วยก็สามารถสื่อสารนโยบายให้ประชาชนรับทราบได้ ทั้งนี้ ตนเห็นว่าถ้าเอาประโยชน์ของประเทศเป็นตัวตั้ง การตัดสินใจเรื่องปลดล็อกและการให้ใช้สื่อออนไลน์หาเสียงจะไม่ยากเลย ตนหวังให้ประชาชนได้เข้าใจ ส่วนผู้เกี่ยวข้องจะทบทวนหรือไม่ คงต้องติดตามดูต่อไป” นายนพดล กล่าว