“ณัฐวุฒิ” ออกจม.เปิดผนึกถึง อสส. ข้องใจ “นายพล” รุดขอคดี 99 ศพเป็นสำนวนมุมดำ

วันที่ 16 กันยายน 2561 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงอัยการสูงสุดและผู้เกี่ยวข้องในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มนปช.และมีผู้เสียชีวิต 99 ศพลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีใจความสรุปว่า คอลัมน์มองรอบทิศ เรื่อง “นายพล” เดินแรง โดยผู้ใช้นามปากกา พยัคฆ์น้อย ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 6 กันยายน 2561 ระบุถึงเหตุการณ์วันที่ 3 สิงหาคม 2561 เวลาก่อน 11.00 น.ว่า มีนายทหารระดับนายพลเดินทางไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับสำนวนคดีสลายการชุมนุมกลุ่มนปช.เมื่อปี 2553 จนมีผู้เสียชีวิต 99 ศพ บาดเจ็บกว่า 2,000 ราย โดยนายพลขอให้ผู้ใหญ่ฝ่ายอัยการยุติเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะกรณีเกือบ 20 ศพที่ศาลไต่สวนสาเหตุการตายเป็นที่ยุติแล้วว่าเสียชีวิตเพราะถูกกระสุนปืนความเร็วสูงจากฝั่งเจ้าหน้าที่ ให้ทำเป็นสำนวนมุมดำ หาตัวผู้กระทำความผิดไม่ได้ จึงไม่ต้องส่งฟ้องศาล ตนอ่านบทความดังกล่าวโดยละเอียดและสรุปได้โดยไม่ซับซ้อนว่า เนื้อหาเช่นนี้ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อความสง่างามและความน่าเชื่อถือขององค์กรอัยการ มั่นใจว่าจะต้องมีการชี้แจงข้อเท็จจริงตอบโต้ในทันที แต่จนถึงวันนี้(16 ก.ย.) ยังไม่ปรากฏคำชี้แจงใดๆ ทำให้นึกถึงหลักคิดทางกฎหมายข้อหนึ่งว่า “การนิ่งเฉยถือเป็นการยอมรับ” ทั้งนี้ ไม่ควรเป็นภาระของประชาชนในการค้นหาความจริงเรื่องนี้ แต่อัยการสูงสุดควรมีคำอธิบาย และหากท่านจะมีคำตอบต่อเรื่องดังกล่าว ตนซึ่งเป็นคนหนึ่งที่ติดตามคดีนี้ท่ามกลางความมืดมนมาอย่างยาวนาน ขอคำอธิบายเพิ่มเติมเรื่องขั้นตอนการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

นายณัฐวุฒิ ระบุอีกว่า การเสียชีวิตทั้ง 99 ศพถือเป็นการตายโดยผิดธรรมชาติ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 148 พนักงานอัยการต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรค 5 และต้องเป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งอัยการถือปฏิบัติกันมาโดยไม่มีข้อยกเว้นหรือเลือกปฏิบัติ เช่น กรณีตัวอย่างการไต่สวนการตายจากเหตุวุ่นวายที่อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งมีการไต่สวนสาเหตุการตายโดยศาลจังหวัดปัตตานีรวม 78 ศพ แต่เหตุการณ์ปี 2553 อัยการดำเนินการไต่สวนการตายไปเพียงกว่า 20 ศพเท่านั้น ยังคงเหลืออีกเกิน 70 ศพที่ค้างอยู่ในกระบวนการและไม่มีความคืบหน้าใดๆ นับตั้งแต่การรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 แม้ศาลฎีกาจะวินิจฉัยว่าคดีดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช.ในฐานะพนักงานสอบสวน แต่การไต่สวนการตายยังเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการ ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ท่านมีแนวทางดำเนินการต่อกรณีผู้เสียชีวิตที่ยังรอการไต่สวนการตายอีกกว่า 70 ศพอย่างไร หากเพิกเฉยจะถือว่าพนักงานอัยการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ ในจำนวนเกือบ 20 ศพที่ศาลชี้ว่าเสียชีวิตจากกระสุนปืนฝั่งเจ้าหน้าที่ มีบางกรณี เช่น 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม และนายพัน คำกอง ซึ่งสำนวนระบุชัดว่ากระสุนมาจากทิศทางใด และสามารถตรวจสอบว่าเจ้าหน้าที่หน่วยใด คนไหน อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่คดีกลับไม่มีความคืบหน้า ในฐานะผู้บริหารสูงสุดขององค์กรอัยการ ท่านมีคำอธิบายสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนจำนวนมากที่ติดตามคดีนี้อยู่หรือไม่ และไม่ทราบว่ามีนายพลคนไหนไปพบใครที่สำนกงานอัยการสูงสุด ไม่ทราบว่ามีข้อเจรจาให้คดีดังกล่าวเป็นสำนวนมุมดำจริงหรือไม่ และไม่ประสงค์จะกล่าวหาหรือให้ร้ายใคร แต่ตนต้องการคำอธิบาย เพราะแน่ใจมาตลอดว่าคดีสลายการชุมนุมกลุ่มนปช. 99 ศพไม่ได้รับความยุติธรรม ทั้งนี้ ตนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยืนขวางความอยุติธรรมในทุกกระบวนการอย่างถึงที่สุด

“ผมพยายามระมัดระวังไม่ให้การติดตามเรื่องนี้ก่อกระแสความขัดแย้งระหว่างคนต่างความคิด และพร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายสร้างสังคมประชาธิปไตย แต่สิ่งนี้จะเป็นไปไม่ได้เลยหากละเว้นความยุติธรรมสำหรับคนบางกลุ่ม หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความกระจ่างจากท่าน และยังหวังต่อไปว่าองค์กรอัยการจะรับรู้ความเจ็บปวดของประชาชน ที่ยิ่งเดินก็ดูเหมือนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ยิ่งเลือนหายไป อนึ่ง ผมจะมอบหมายตัวแทนฝ่ายกฎหมายเดินทางไปยื่นคำร้องเรื่องนี้ต่อสำนักงานอัยการสูงสุดอีกครั้งในสัปดาห์หน้า” นายณัฐวุฒิระบุ