‘อนาคตใหม่’ ชูแผน 3 ระยะแก้ปัญหาใต้ ชี้ต้องหยุดใช้การทหารนำ

เมื่อวานนี้ (15 กันยายน 2561) ที่ห้องประชุม Patani Center อาคารคณะกรรมการกลางอิสลามจังหวัดปัตตานี-หลังเก่า จ.ปัตตานี นายปิยบุตร แสงกนกกุล ว่าที่เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ร่วมเสวนาเนื่องในวันประชาธิปไตยสากล ในหัวข้อ “สัญญาณการเลือกตั้ง ทิศทางการเมืองไทย ต่ออนาคตสันติภาพปาตานี” โดยตอนหนึ่งระบุว่า ปัญหาในพื้นที่มีหลายมุมมองมาก ต่างคนมองสาเหตุต่างกัน ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงไม่ตรงกัน สำหรับตนเองมองว่า 1.ความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและพื้นที่ กับ 2.อำนาจการตัดสินใจของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งทั้งสองเป็นปัญหาหลักที่พัวพันกันอยู่ และไม่มีทางที่จะใช้กำลังทางทหารจัดการได้ วิธีคิดแบบการทหารนำการเมือง เมื่อยิ่งกด ยิ่งปราบ ก็มีแต่จะยิ่งทำให้บานปลาย ดังนั้น เบื้องต้นคือ ต้องพยายามลดเรื่องทหาร แล้วมาเจรจาในทางการเมือง

“ถ้าประเทศนี้ยังปกครองโดยรัฐบาลทหารอยู่ การแก้ปัญหาที่ละเอียดอ่อนแบบนี้ไม่มีทางสำเร็จ มีแต่ความคิดแบบประชาธิปไตยเท่านั้นที่แก้ปัญหาลักษณะนี้ได้ ในหลายๆประเทศก็มีปัญหาแบบเดียวกับเรา และเขาก็แก้ไขด้วยกระบวนการประชาธิปไตย เพราะถ้าประเทศเป็นเผด็จการ ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพ ไม่มีสิทธิในการตัดสินใจ ไม่สามารถโต้แย้งถกเถียงกันได้ ก็จะไม่รู้ว่าปัญหานั้นอยู่ตรงไหน เรื่องนี้จึงยึดโยงกับประชาธิปไตยอย่างแน่นอน ปัญหาความขัดแย้งทุกๆอย่าง พัวพันกับภาพใหญ่ ดังนั้น เบื้องต้นเห็นว่า จะต้องยุติแนวคิดการเอาทหารนำการเมือง แล้วมาตั้งโต๊ะเจรจากัน” ปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า การจะแก้ปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ สำคัญที่สุดคือต้องมีสนามหรือเวทีที่เป็นประชาธิปไตย ให้คนที่มีความคิดหลากหลายได้มาถกเถียงกัน พูดคุยกันได้โดยที่ไม่มีเงื่อนไข สำหรับแนวคิดของอนาคตใหม่ในการแก้ไขเรื่องนี้ แบ่งเป็น 3 ระยะ สั้น กลาง และยาว คือ ระยะสั้น ต้องสร้างสนาม หรือเวทีนี้ให้เกิดขึ้น ให้คนได้แสดงออกอย่างเต็มที่ และต้องรับประกันความปลอดภัย อาวุธในมือทั้งฝ่ายรัฐและขบวนการต้องเอาออกไปก่อน ซึ่งเรื่องนี้ถ้าอยู่ภายใต้รัฐบาล คสช.ทำไม่ได้แน่นอน

“ระยะกลาง รูปแบบการกระจายอำนาจสามารถที่จะช่วยแก้ไขได้ ซึ่งปัจจุบันที่ใช้กันอยู่ทุกคนรู้จักดีคือ อบจ.หรือ อบต. ที่ผู้นำท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง แต่ยังมีอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเราใช้กันน้อยมาก นั่นคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษ มีแค่กรุงเทพมหานคร กับพัทยา ซึ่งนอกจากการเลือกตั้งท้องถิ่นแล้ว ต้องออกแบบการมีส่วนร่วม มีงบประมาณ มีอำนาจให้บริหารจัดการตนเองได้ด้วย ในระยะกลางอีกเรื่องคือ กฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคงทั้งหมดต้อทบทวน กฎอัยการศึก พรบ.บริหารราชการในสภานการฉุกเฉิน ฯบฯ ต้องรื้อทำใหม่ ซึ่งนอกจากเรื่องความมั่นคงแล้ว ต้องประกันสิทธิของประชาชนด้วย สุดท้าย ระยะยาว เป็นเรื่องวัฒนธรรม ความคิด ยกตัวอย่าง การศึกษา ต้องทำให้การศึกษามีความหลากหลาย ไม่ใช่ผลิตคนที่เหมือนออกมาจากหนังสือเล่มเดียวกันหมด” นายปิยบุตร กล่าว