“อังคณา” ชี้ คสช.ควรยกเลิกคำสั่งบางข้อ เช่นการชุมนุมบางเรื่อง ต้องเปิดพื้นที่ก่อนเลือกตั้ง

 

(14 ก.ย.) นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) กล่าวถึงกรณีสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกรายงานประจำปีที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา จัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีพฤติกรรมน่าละอาย โดยระบุถึงการที่รัฐบาลไทยมักตั้งข้อกล่าวหากับนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต่างชาติให้ความสำคัญมาก เพราะเขามีกลไกตรวจสอบเรื่องสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ เมื่อมีคนไปให้ข้อมูลกับเขาแล้วคนเหล่านั้นถูกคุกคาม ถูกทำร้ายหรือถูกฟ้องร้อง โดยคนที่เขียนข้อมูลฉบับนี้คือ นาย Andrew Gilmour ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งเขาระบุว่า รายงานฉบับนี้เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง เนื่องจากยังมีอีกหลายกรณีที่ไม่ถูกพูดถึง

นางอังคณา กล่าวว่า ภาคผนวกของรายงานฉบับนี้ได้ยกตัวอย่างเรื่องราวของบุคคลต่างๆ เช่น กรณีนายไมตรี จำเริญสุขสกุล พี่ชายบุญธรรมของชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ กรณี น.ส.กาญจน์ เจริญศิริ หรือทนายจูน ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงประเด็นการโจมตีทางออนไลน์(Online Attack) ซึ่งตนยืนยันได้ว่าเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นจริง อาทิ เหตุการณ์คนถูกฆ่า ถูกอุ้ม แต่คนฆ่ากลับไม่ถูกลงโทษ หลักฐานการถูกทำร้ายก็หายาก รวมถึงนักสิทธิมนุษยชนที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐแต่ถูกฟ้องกลับ และปัจจุบันมีนักสิทธิมนุษยชนผู้หญิงจำนวนมากที่ถูกฟ้องร้องจากการคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ ซึ่ง กสม. เคยตรวจสอบและมีข้อเสนอแนะไปแล้วว่าให้ภาครัฐยุติการฟ้องร้องคดีเพื่อปิดปาก (SLAPP) เพราะงานที่คนเหล่านี้ทำคืองานที่ปกป้องประโยชน์สาธารณะ ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ดังนั้น ภาครัฐควรหันมาทบทวนนโยบาย เพราะเมื่อใช้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ปกครอง ก็เท่ากับห้ามคนพูด ห้ามคนให้ความเห็น และรัฐควรหาแนวทางอื่นแทนการฟ้องร้องดำเนินดคี เช่น การพูดคุยเพื่อหาทางออกของปัญหา เพราะเราได้ประกาศให้ความสำคัญและยกเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ หน่วยงานของรัฐจึงต้องยอมรับและพร้อมถูกตรวจสอบ

เมื่อถามว่า คสช.ควรยกเลิกคำสั่งบางข้อที่จำกัดสิทธิของประชาชน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหานี้หรือไม่ นางอังคณากล่าวว่า ในฐานะกรรมการสิทธิฯ ตนเคยเสนอแนะไปแล้วว่าให้ควรทบทวน ปรับปรุงคำสั่งที่จำกัดเสรีภาพของประชาชน เช่น คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เพราะการชุมนุมบางเรื่องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แลกเปลี่ยนข้อมูล เช่น งานเสวนา เป็นต้น

“ไหนๆรัฐบาลก็ประกาศว่าจะให้มีการเลือกตั้งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จึงควรเปิดให้มีพื้นที่แสดงความคิดเห็นมากขึ้น ไม่เช่นนั้นเราจะไปสู่การเลือกตั้งได้อย่างไร ถ้าคนยังกลัวว่าพูดไปแล้วจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี หากไทยอยากเป็นประเทศที่ถูกกล่าวถึงในฐานะประเทศที่เคารพสิทธิเสรีภาพประชาชน รัฐบาลก็ควรทบทวนและเอาเวลาไปทำให้มีกฎหมายที่ยุติการฟ้องร้องเพื่อปิดปาก และในกรณีที่นักสิทธิมนุษยชนถูกซ้อม ถูกอุ้มฆ่า หรือหายตัว รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ ต้องคลี่คลายคดีและเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้” นางอังคณากล่าว