พบกับนักปกป้องสิทธิฯ ในรายงานยูเอ็น หลังจัดไทยเป็นกลุ่มประเทศมีพฤติกรรมน่าละอาย

เมื่อวานนี้ (12 กันยายน 2561) องค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็น ได้เผยแพร่รายงานสำหรับการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น โดยประกาศรายชื่อ 38 ประเทศ ประเทศที่มีพฤติกรรมน่าละอาย ด้วยการตอบโต้หรือข่มขู่บุคคลที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งการสังหาร ทรมาน และจับกุมตัวตามอำเภอใจ ซึ่งบรรดาประเทศที่ปฏิบัติคุกคาม ยังมีไทยรวมอยู่ด้วย

นายอันโตนิโอ กูเตเรส เลขาธิการยูเอ็นกล่าวว่า ที่โลกของเราเป็นหนี้บรรดาผู้คนที่กล้าจะลุกขึ้นมาสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน บุคคลที่คอยให้ข้อมูลและทำงานร่วมกับสหประชาชาติเพื่อให้แน่ใจได้ว่าสิทธิในการมีส่วนร่วมของพวกตนจะได้รับการเคารพ การลงโทษบุคคลที่ให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติเป็นพฤติกรรมที่น่าละอาย

จากรายงานที่มีจำนวน 52 หน้า โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น ปรากฎอยู่ในหมวดที่ 5 เกี่ยวกับรายงานสถานการณ์ของการถูกคุกคามหรือกลั่นแกล้งจากการร่วมมือกับยูเอ็น ต่อตัวแทนของยูเอ็นและกลไกในพื้นที่สิทธิมนุษยชน โดยได้รายงานการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างนายไมตรี จำเริญสุขสกุล นักปกป้องสิทธิชนพื้นเมืองละหู่ที่ถูกคุกคามล่วงละเมิดจนถึงถูกขู่ฆ่าและ น.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ถูกกล่าวหาในความผิดทางอาญาจากความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการให้ความร่วมมือกับกลไกด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น

ส่วนในภาคผนวก เป็นการรายงานเชิงลึกจากผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นที่ได้ลงพื้นที่ติดตาม โดยในกรณีของนายไมตรี ได้เปิดประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชุมชนชาวละหู่โดยเจ้าหน้าที่รัฐและการเรียกร้องความเป็นธรรมต่อการเสียชีวิตของนายชัยภูมิ ป่าแส นักเคลื่อนไหวชาวละหู่วัย 17 ปี ที่ถูกทหารยิงเสียชีวิต (ล่าสุดมีรายงานว่าคลิปบันทึกช่วงเกิดเหตุได้หายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ) แต่หลังจากการพบผู้รายงานพิเศษไม่นาน เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่เข้าตรวจค้นขนานใหญ่โดยอ้างปฏิบัติปราบปรามยาเสพติดและได้จับกุมสมาชิกครอบครัวของนายไมตรีไป 2 คนและถูกตั้งข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครองแต่ทั้งสองให้การปฏิเสธ

ต่อด้วยรายงานในเดือนสิงหาคม ปี 2017 ที่ระบุถึงกรณีของน.ส.ศิริกาญจน์ ถูกตั้งข้อหาทั้งให้การเท็จ ข้อหาปลุกปั่นตามมาตรา 116 ของกฎหมายอาญาและฝ่าฝืนข้อ 12 ตามคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ว่าด้วยห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน โดยเกิดขึ้นหลังจาก น.ส.ศิริกาญจน์พร้อมทีมทนายความสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับ 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่ถูกจับกุมหลังชุมนุมต่อต้านรัฐบาลคสช.อย่างสันติในช่วงวันที่ 24 มิถุนายน 2558 (ตรงกับวันอภิวัฒน์สยามที่คณะราษฎรก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้เป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ) โดยน.ส.ศิริกาญจน์ปฏิเสธให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นของที่ 14 นักศึกษาฝากไว้กับทนายเพราะไม่มีคำสั่งตรวจค้นจากศาล ต่อมารัฐบาลคสช.ได้ตอบกลับด้วยวิธีการสื่อสารพิเศษว่า น.ส.ศิริกาญจน์ไม่ได้ถูกตั้งข้อหาระหว่างทำหน้าที่เป็นทนายความหรือนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่ด้วยพื้นฐานที่เป็นไปได้ว่าน.ส.ศิริกาญจน์เป็น 1 ในผู้มีส่วนร่วมกระทำความผิดขัดคำสั่ง คสช. ทั้งนี้ ในช่วงที่ผู้ช่วยเลขาธิการสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นเดินทางเยือนไทยช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้กล่าวถึงข้อกล่าวหาที่คุกคามหรือกลั่นแกล้งไปยังรัฐบาลและจะรายงานผลความคืบหน้าให้ทราบ แต่กระนั้นรัฐบาลไทยกลับไม่มีการตอบสนอง

ไม่เพียงเท่านี้ ในรายงานยังระบุถึงกรณีของ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติและนายสมชาย หอมละออจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และน.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ จากกลุ่มด้วยใจ ถูกกองทัพไทยฟ้องหมิ่นประมาทจากการเผยแพร่รายงานการซ้อมทรมาน 54 กรณี ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงปี 2557-2558 โดยกล่าวหาว่าองค์กรดังกล่าวมีอคติและใช้ข้อมูลที่ล้าสมัย ต่อมากอ.รมน.ภาค 4 ได้ยื่นฟ้องทั้ง 3 ในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพ์

จากนั้น 1 กรกฎาคม 2560 ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่เชื่อว่าเป็นทหารเข้าพบ น.ส.อัญชนาและเตือนว่าอย่าโพสต์อะไรบนเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่แล้ว กอ.รมน.ภาค 4 ได้ถอนฟ้องหมิ่นประมาทกับทั้ง 3

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าทั้ง 3 ตกเป็นเป้าในการคุกคามบนโลกโซเชียลด้วยคำกล่าวหาว่ามีอคติและเชื่อมโยงนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน รวมถึงบล็อกเนื้อหาที่ไปถึงขั้นข่มขู่ฆ่าน.ส.พรเพ็ญ

นอกจากนี้ มีรายงานถึงการดำเนินคดีกับนายอิสมาแอ เต๊ะ ประธานองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี โดยกอ.รมน.ภาค 4 และสภ.ปัตตานียื่นฟ้องหมิ่นประมาทนายอิสมาแอ หลังให้สัมภาษณ์์ผ่านโทรทัศน์เกี่ยวกับประสบการณ์ถูกซ้อมทรมานในค่ายทหารในจังหวัดปัตตานี แต่ศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินให้นายอิสมาแอชนะคดี โดยระบุว่าถูกละเมิดภายใต้การควบคุมตัวของทหารจากข้อมูลทางการแพทย์ และสั่งให้กองทัพไทยเยียวยานายอิสมาแอ

อ่านรายงานทั้งหมดอีก 37 ประเทศได้ ที่นี่