อรรถวิชช์ อัด รัฐบาลยอมเป็นหนี้ ดันเอกชนต่างชาติส่งเสริมการลงทุน-ยกเว้นภาษี ประชาชนจะได้อะไร

วันนี้ (12 ก.ย.) นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี  อดีตสส.ประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊กเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างมาก แม้ตัวเลขจีดีพี จะสูงขึ้น โดยระบุว่า  GDP กระฉูดแต่ ‘จนกระจาย’  มีรายละเอียดดังนี้

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ประกาศตัวเลข GDP ครึ่งปีแรกขยายตัวถึงร้อยละ 4.8 สูงกว่าปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.9 และสูงกว่าประมาณการเดิมที่คาดไว้ร้อยละ 4.2 – 4.7 ถ้ามองในทางเศรษฐกิจแล้วเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างดีเลยครับ แต่หลายคนคงรู้สึกตรงกันว่า เดินตลาดแล้วสภาพไม่คึกคัก รู้สึกจนลง รู้สึกจ่ายไม่คล่องเหมือนแต่ก่อน

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จะถูกคาดการณ์ ทบทวน คำนวณ และประกาศทุก 3 เดือน หรือไตรมาส “เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ” 4 ตัว ที่ส่งผลต่อตัวเลข GDP คือ การบริโภค, การลงทุน, รายจ่ายภาครัฐ และดุลการค้าส่งออก นำเข้า

การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่สูงขึ้น เพราะงบประมาณรายจ่ายของรัฐที่จะลงไปใช้จ่ายสูงถึง 3 ล้านล้านบาท มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก การส่งออกและท่องเที่ยวภาคเอกชนก็ทำได้ดีมาก

โครงการใหญ่ของรัฐที่ดึงดูดนักลงทุนก็น่าสนใจโดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เช่าที่ดินราชพัสดุได้สูงสุดถึง 99 ปี ปรับปรุงขยายสนามบินอู่ตะเภา มอเตอร์เวย์ รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก เชื่อมโยง 3 สนามบิน สุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา มีการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง มาบตาพุด และท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ เอาเป็นว่ารัฐยอมจ่ายเต็มที่ เพื่อให้เกิดการลงทุนและการจ้างแรงงานจากเอกชน

รัฐบาลต้องเป็นหนี้จำนวนมาก เพื่อส่งเสริมการลงทุนที่ต่างชาติจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 10 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าทั้งเครื่องจักรและวัตถุดิบ อีกทั้งคนต่างชาติที่เข้ามาทำงานใน EEC มีความสุขกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ร้อยละ 17 ต่ำที่สุดในอาเซียน

จากที่ว่ามา GDP กระฉูดแน่ แต่ทำไมคนไทยรู้สึกจน และตลาดไม่คึกคัก?

1) หนี้ครัวเรือนสูงมากจนน่ากลัว ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไตรมาสแรกของปีนี้สูงถึง 12.17 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 จากปีก่อน มีแนวโน้มเป็นหนี้เสียมากขึ้น ทำให้กลายเป็นดอกเบี้ยผิดนัดที่มีอัตราสูงขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นหนี้ค่าผ่อนรถหรือบัตรเครดิต อันนี้ยังไม่รวมหนี้นอกระบบที่มองไม่เห็นตัวเลขที่แท้จริงด้วย อย่างไรก็ดี ธปท. มีการประมาณเฉลี่ยหนี้สินต่อครัวเรือนไว้สูงถึง 178,994 บาทต่อครัวเรือน

2) ความมั่นคงเรื่องแรงงานต่ำ สวนทางกับการลงทุนที่สูงขึ้น นั่นเป็นเพราะการจ้างงานไม่เพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มลดลงอีกในอนาคต อย่างที่ผมเคยพบมากับตัวเองเมื่อครั้งไปเยี่ยมชมโรงงานขนาดใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด น่าตกใจที่บริษัทได้รับ BOI ยกเว้นภาษี แต่กลับมีเป้าหมายองค์กร ลดจำนวนพนักงานแล้วแทนที่ด้วยเครื่องจักร หรือหุ่นยนต์ เช่นเดียวกับหลายธุรกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นใน EEC ที่มีแนวโน้มว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานคนน้อยเช่นเดียวกัน

คำถามจึงเกิดขึ้นว่า “ประชาชนจะได้อะไร” จากการที่เราให้สิทธิพิเศษการลงทุน รัฐยอมเป็นหนี้เพิ่มขึ้น สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้นให้เขามาตั้งฐานการผลิตในประเทศเรา

ถ้าไม่มีเป้าหมายชัดเจนเรื่องการสร้างงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี การส่งเสริมความแข็งแรงภาคเกษตร การสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ การลดความเหลื่อมล้ำ สุดท้ายประเทศไทยก็จะได้ไม่คุ้มกับเงินที่เสียไปและหนี้สาธารณะที่เพิ่มมากขึ้น เงินก็จะกลับไปที่ประเทศต้นทางของโรงงานเหล่านั้นนั่นเอง

รัฐบาลชุดนี้มีข้อดีที่ส่งเสริมการลงทุน สร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่ก็ยังขาดการกระจายรายได้ และความเข้าใจสภาวะของประชาชนเดินดิน บางรัฐบาลในอดีตก็มีนโยบายสุดไปอีกทาง เน้นลดแลกแจกแถมสร้างหนี้มหาศาล ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นบ้านเมืองก็พัฒนาไม่ได้เช่นกัน ผมก็ยังหวังที่จะได้เห็น “มัชฌิมาปฏิปทา” ทางสายกลางให้ประเทศเดินหน้าอย่างมั่นคง เพียงพอ และพอเพียง