ใครจะได้ขึ้นนำพรรคประชาธิปัตย์?

(12 กันยายน 2561) ขณะที่เพื่อไทยกำลังมีข่าวมาไม่เว้นวันว่าใครจะได้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค อีกพรรคหนึ่งที่เป็นคู่แข่งตลอดกาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ก็กำลังเผชิญภาวะการณ์นี้เช่นกัน โดยวันนี้ มีทั้งอดีตสมาชิกและสมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์ออกมาให้ความเห็นกับการแข่งขันภายในพรรคที่เก่าแก่กว่า 7 ทศวรรษกันหลากหลาย

‘อลงกรณ์’ ขอ ‘มาร์ค’ รับกฎเหล็ก 5 ข้อ

นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเมื่อวานนี้ได้ประกาศกฎ 5 ข้อ ให้สมาชิกพรรคทุกคนเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมากล่าวในวันนี้ว่าพร้อมปฏิบัติตามกฎเกณฑ์คุณสมบัติใหม่ของผู้ที่จะเสนอตัวเป็นผู้สมัครแข่งขันเป็นหัวหน้าพรรค ปชป. แต่ขอให้คำนึงหลักการเปิดกว้างอย่ากำหนดกติกาสูงจนทำให้เจตนาหลักต้องเสียไป อาจถูกมองว่าเป็นการกีดกันไม่เปิดกว้างจริง และต้องการคำยืนยันกฎเหล็ก 5 ข้อ ถ้าหากคณะกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันจะเป็นกลุ่มแรกที่ออกมายืนยันเป็นสัญญาประชาคมก็จะดีมาก ต่อพรรคต่อประเทศและการปฏิรูปการเมือง หรือหัวหน้าพรรคจะออกมายืนยันกฎเหล็ก 5 ข้อ ก็เสมือนเป็นตัวแทนคณะกรรมการบริหารทั้งหมดและจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับพรรคการเมืองอื่นๆ ด้วย

สำหรับกฎเหล็ก 5 ข้อที่นายอลงกรณ์เสนอคือ  1.ต้องไม่มีการซื้อเสียงหรือทุจริตในการเลือกตั้งโดยเด็ดขาด ไม่ว่าผู้สมัคร ส.ส.หรือผู้สนับสนุน 2.ต้องไม่หาเสียงโจมตีใส่ร้ายคนอื่นโดยเด็ดขาด ต้องหาเสียงอย่างสุภาพบุรุษ-สุภาพสตรีและต้องแข่งด้วยนโยบายวิสัยทัศน์และความสามารถในการบริหาร 3.ต้องไม่รับทุนใต้โต๊ะในการเลือกตั้งโดยเด็ดขาด เพื่อไม่ต้องเป็นหนี้ต่างตอบแทนและทุจริตฉ้อฉล เราจะเป็นหนี้ประชาชนเท่านั้น 4.ต้องไม่ต่อสู้นอกระบบโดยเด็ดขาด ต้องยึดมั่นระบบรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตย 5.ต้องไม่คอร์รัปชั่นโดยเด็ดขาด ไม่ว่าตัวเองครอบครัวเครือญาติหรือพวกพ้อง สมาชิกที่จะลงสมัคร ส.ส.และผู้ที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องเซ็นใบลาออกล่วงหน้า

‘หมอวรงค์’ มองเลือกตั้งหัวหน้าพรรค เป็นจุดเริ่มต้นประชาธิปไตย

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ตนมีความเห็นว่า ประชาธิปไตยของประเทศ ต้องเริ่มต้นจากพรรคการเมือง การได้มาซึ่งหัวหน้าพรรค จึงต้องปราศจากการครอบงำ ซึ่งแนวทางที่พรรคปชป. จะให้สมาชิกพรรคหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค ถือเป็นทิศทางการตอบโจทย์ประชาธิปไตยของประเทศอย่างแท้จริง ดังนั้นถ้าทุกพรรคการเมือง มีความจริงใจต่อประเทศ ควรจะมีจุดเริ่มต้นของความเป็นประชาธิปไตยจากพรรคการเมืองเสียก่อน สังคมจึงจะเชื่อได้ว่าเป็นประชาธิปไตยจริง และถ้าพรรคการเมืองต่างๆ เริ่มต้นถูกต้อง มีความมุ่งมั่นที่จะทำเพื่อประชาชน ไม่ว่าพรรคไหนๆ ก็น่าจะร่วมมือกันได้ โดยเอาประโยชน์ประชาชนและประเทศเป็นตัวตั้ง

‘จุติ’ ย้ำ ‘มาร์ค’ เหมาะเป็นหัวหน้าพรรค ‘สาธิต’ ชี้เลือกผู้บริหารพรรค ไม่เหมือนกับผู้นำบริหารประเทศ

เมื่อวานนี้ (11 กันยายน 2561) นายสัมพันธ์ ทองสมัคร อดีต รมว.ศึกษาธิการ และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จ.นครศรีธรรมราช ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคควรให้การเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2562 แล้วเสร็จ ควรให้มีผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรครักษาการหัวหน้าพรรคไป เช่น นายชวน หลีกภัย รักษาการหัวหน้าพรรค ปชป.ไปก่อน เพราะจะทำให้การเลือกตั้งกลมเกลียวกันมากขึ้น ทำให้พรรคเป็นปึกแผ่น อย่างไรก็ตาม นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า เป็นข้อสังเกตของนายสัมพันธ์ในฐานะสมาชิกพรรค ตนในฐานะเลขาพรรคยินดีรับฟังทุกความคิดเห็น แต่ส่วนตัวยืนยันว่านายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคที่ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาทำงานไม่เคยหยุด ตนเป็นเลขาฯได้จดทุกปัญหาที่นายอภิสิทธิ์ลงพื้นที่เจอปัญหาประชาชนกว่าร้อยปัญหา ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้เราได้นำมาประมวลเป็นนโยบายของพรรค ปชป. ดังนั้นตนจึงสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ในการทำงานเป็นหัวหน้าพรรค

เช่นเดียวกับนายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรค กล่าวว่า อาจเป็นความหวังดีของนายสัมพันธ์ แต่การเลือกผู้บริหารพรรคการเมือง ไม่เหมือนกับกรณีการบริหารประเทศ ดังนั้นในข้อบังคับพรรคการเมืองจึงไม่มีกำหนดว่าต้องมีหัวหน้าพรรครักษาการในระหว่างการเลือกตั้ง การเสนออย่างนี้จึงเป็นเรื่องความคิดเห็นของคนที่เคยเป็นอดีตสมาชิกพรรค และอดีตรัฐมนตรีของพรรค ซึ่งอาจจะเป็นความเห็นส่วนตัวของนายสัมพันธ์