แพทย์เตือนโรคอ้วน กระทบเมตาบอลิกซึม ผู้หญิงเสี่ยงถุงน้ำรังไข่

ความอ้วน นอกจากเป็นรูปร่างที่ไม่พึงประสงค์แล้ว ยังเป็นปัญหาสุขภาพที่มีโรคภัยตามมาอีกมากมาย ที่มีข้อมูลเตือนกันบ่อย ๆ ก็อย่างโรคเบาหวาน กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด ส่วนอีกพิษภัยของความอ้วนที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ คือ ความอ้วนส่งผลกระทบต่อภาวะเมตาบอลิกซินโดรม (metabolic syndrome) และทำให้ผู้หญิงเสี่ยงให้เกิดภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบด้วย

รศ.นพ.สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์ ศัลยแพทย์ส่องกล้องและการผ่าตัดโรคอ้วน ศูนย์ผ่าตัดและรักษาโรคอ้วน โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ในปัจจุบันมีความเชื่อว่าโรคอ้วนส่งผลให้เกิดภาวะเมตาบอลิกซินโดรม โดยเฉพาะอ้วนลงพุง นำไปสู่ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ไขมันดีในเลือดต่ำ รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือด และภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเกิดได้ทั้งจากพันธุกรรมและสาเหตุภายนอก โดยคนที่อ้วนลงพุงจะมีภาวะดื้อต่ออินซูลินมากกว่าคนที่อ้วนบริเวณสะโพก

คุณหมอให้ข้อมูลว่า เมตาบอลิกซินโดรม (metabolic syndrome) คือ กลุ่มความผิดปกติของระบบเมตาบอลิก จากข้อมูลของ Interasia ที่ทำการศึกษาในประชากรไทยทั่วประเทศ อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป จำนวน 5,091 คน พบว่าความชุกของโรคอยู่ที่ร้อยละ 21.9-33.3 ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้วินิจฉัย และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ความผิดปกติที่พบได้บ่อยคือ ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีต่ำ และพบว่าเมื่ออายุเพิ่มขึ้น โอกาสที่จะเป็นเมตาบอลิกซินโดรมก็มีโอกาสเพิ่มขึ้นตาม

วิธีการรักษาเมตาบอลิกซินโดรม คือ ควรแก้ที่ปัญหาโรคอ้วนและภาวะดื้อต่ออินซูลิน ได้แก่ ควบคุมการกินอาหาร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม มีการศึกษาพบว่าการลดน้ำหนักให้เป็นไปตามเกณฑ์ ทำให้ภาวะเมตาบอลิกซินโดรมดีขึ้นได้ และบางครั้งแพทย์อาจให้รับประทานยาร่วมด้วย ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น ส่วนการผ่าตัดใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคอ้วนและลดน้ำหนักไม่ได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งการผ่าตัดมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแพทย์ที่ตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด

นอกจากนั้น รศ.นพ.สุเทพบอกว่า ความอ้วนยังส่งผลกระทบต่อภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (polycystic ovary syndrome-PCOS) ในผู้หญิง ภาวะนี้เป็นความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ หรือฮอร์โมนในร่างกาย โดยจะพบซีสต์หรือถุงน้ำหลายใบในรังไข่ เมื่อซีสต์หรือถุงน้ำเข้าไปเบียดรังไข่ ส่งผลให้การทำงานของรังไข่ผิดปกติ ซึ่งสาเหตุของการเกิดภาวะนี้ยังไม่แน่ชัด อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ หรือความผิดปกติของหลายระบบในร่างกาย อาทิ ต่อมใต้สมอง รังไข่ ต่อมหมวกไต

“การมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ไม่ใช่เรื่องดี โดยเฉพาะผู้หญิง หากตกอยู่ในภาวะอ้วนอาจส่งผลให้มีรอบเดือนผิดปกติ เพราะความอ้วนมีส่วนทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนผิดปกติ โดยเฉพาะการอ้วนลงพุง เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนผลิตจากไขมัน เมื่อมีไขมันมากไป การสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ควบคุมการตกไข่ในเพศหญิงอาจผิดปกติ ส่งผลให้ไม่มีการตกไข่ ประจำเดือนมาน้อยแบบกะปริดกะปรอย หรือประจำเดือนขาดหาย ทำให้มีบุตรยาก ภาวะนี้มักพบในวัยเจริญพันธุ์ อายุประมาณ 25-35 ปี หากไม่รีบรักษาอาจทำให้มีบุตรยาก เสี่ยงต่อการมีเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติ และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ในอนาคต”

คุณหมอบอกว่า อาการที่ผู้หญิงควรสังเกต คือ 1.ประจำเดือนเว้นช่วงนาน มาห่างกันมากกว่า 35 วัน หรือมาไม่เกิน 6-8 ครั้งต่อปี 2.รอบประจำเดือนขาด มาไม่ติดต่อกันนานเกิน 3 รอบ เทียบกับผู้หญิงที่ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ หรือมาไม่ติดต่อกัน 6 เดือน ในผู้หญิงที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ แสดงถึงภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง 3.ประจำเดือนมากะปริดกะปรอย มามากเกินไป นานเกินไป อาจเกิดเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติ 4.ภาวะแอนโดรเจน (androgen) เกิน คือ มีฮอร์โมนเพศชายมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะขนดก สิวขึ้นมากกว่าปกติ ผิวมัน ศีรษะล้าน 5.อ้วน น้ำหนักเกินมาก ทำให้ดื้อต่อน้ำตาลอินซูลิน เพิ่มอาการของภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) ได้

ความรุนแรงของภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบหากไม่รีบรักษา อาจส่งผลให้มีบุตรยาก หรือเพิ่มความเสี่ยงการเกิดเยื่อบุโพรงมดลูกหนา เสี่ยงมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกและมะเร็งเต้านม

วิธีรักษา คือ ลดความอ้วน ควบคุมน้ำหนัก หากไม่แน่ใจควรพบแพทย์ และกินยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว ได้แก่ รักษาภาวะดื้ออินซูลิน ลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด รักษาและป้องกันเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว ฯลฯ

ดังนั้น ผู้หญิงที่มีความเสี่ยง ควรป้องกันด้วยการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เน้นผักผลไม้ เลี่ยงแป้งและอาหารไขมันสูง ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ และไม่เครียด ทำจิตใจให้แจ่มใส เพราะความเครียดทำให้ฮอร์โมนผิดปกติ