ผลวิจัยชี้ วังวนการเมืองไทยขึ้น-ลง ฉุดเศรษฐกิจหนักสุด 1%

วันเลือกตั้งของประเทศไทยกำหนดชัดเจนแล้ว คือ วันที่ 24 ก.พ. 2562 ซึ่งเวลานี้ก็เริ่มเห็นการขยับทัพของพรรคการเมืองและนักวิชาการออกมาพูดถึงกันคึกคักแล้ว หลังจากเกิดการรัฐประหารและถูกปกครองโดยรัฐบาลทหาร นำโดย “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” มาเป็นเวลา 4 ปี

ล่าสุด มีงานวิจัยจาก 2 นักวิชาการ ในสาขาที่เกี่ยวข้อง เรื่อง “ต้นทุนทางเศรษฐกิจของความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศไทย” โดยเป็นผลงานวิจัยร่วมกันของ “พงศ์ศักดิ์” อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ “ยุทธนา เศรษฐปราโมทย์” รองศาสตราจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ภายใต้ทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

ทั้งนี้ นักวิชาการทั้ง 2 คน ได้ใช้ข้อมูลจากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นไป ในการสร้างดัชนีวัดความไม่แน่นอนทางการเมืองของประเทศไทย เพื่อนำมาวิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาค

จากข้อมูลการวิจัยดังกล่าวชี้ว่า ประเทศไทยได้เกิดการปะทุขึ้นของความไม่แน่นอนทางการเมืองอย่างรุนแรงถึง 3 ครั้ง คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549-2557 โดยปัจจัยจากความขัดแย้งที่เกิดจากการชุมนุมและเลือกตั้งได้ส่งผลกระทบต่อตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทย (GDP) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.4% ต่อปี

ส่วนช่วงที่เกิดวิกฤตรุนแรง (shock) อย่างมาก และส่งผลกระทบต่อ GDP ราว 0.8-1.0% ต่อปี

ซึ่งครั้งที่มีผลกระทบต่อ GDP มากที่สุด เกิดขึ้นในสมัยนายกรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ต่อเนื่องมาถึงสมัยนายกรัฐมนตรี “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หรือ “บิ๊กตู่” โดยความขัดแย้งดังกล่าวถือว่าเป็นผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย หรือ GDP ในระยะสั้น

ส่วนผลกระทบต่อจีดีพีในระยะยาว คือ การลงทุนภาคเอกชนที่อาจลดลง พบว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การลงทุนภาคเอกชนลดลงเฉลี่ย 1.5% ต่อปี ซึ่งปัจจัยจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดจากความขัดแย้งในด้านการปฏิรูปโครงสร้างการเมือง ถือเป็นปัจจัยกระทบจีดีพีอย่างมาก ซึ่งปกติแล้ว หากตัวเลข GDP ของประเทศเติบโตไปในทิศทางที่ดี การลงทุนภาคเอกชนจะต้องโตได้ดีกว่า

ทว่าช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าตัวเลข GDP จะเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ภาคเอกชนยังมีการชะลอการลงทุนอยู่ เช่นเดียวกับนักลงทุนชาวต่างชาติที่ยังไม่มั่นใจในการลงทุน ส่วนหนึ่งมาจากการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง นอกเหนือจากปัจจัยภายนอกอย่างสงครามการค้า

พร้อมกับคาดการณ์ครึ่งปีหลังนี้ว่า แม้จีดีพีจะเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่การลงทุนเอกชนก็คงโตได้น้อยกว่าจีดีพี และหากดูเป็นรายสาขาการผลิตพบว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อทั้งสาขาการโรงแรม ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และขนส่ง เนื่องการใช้จ่ายในด้านการบริโภคชะลอตัวลงมาที่ด้านของตลาดทุน ความไม่แน่นอนทางการเมืองได้ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนเพิ่มขึ้น แต่ผลกระทบที่มีต่อผลตอบแทนยังไม่ชัดเจนนัก

ส่วนการเลือกตั้งในครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นก็ยังประเมินว่า หลังเลือกตั้งคงจะมีความไม่แน่นอนทางการเมืองอยู่ ซึ่งเป็นผลจากที่หลายฝ่ายยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่