แม้ออสเตรเลียได้ผู้นำใหม่ ความสัมพันธ์กับจีนยิ่งทวีตึงเครียด

การเปลี่ยนตัวผู้นำประเทศ “ออสเตรเลีย” เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมามีนัยสำคัญไม่น้อย โดยเฉพาะกับ “รัฐบาลปักกิ่ง” ที่อาจส่งผลต่อระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้รุนแรงขึ้นอีก หลังจากที่ระหองระแหงมาตั้งแต่ปี 2017 กระทั่งล่าสุดที่เกิดกรณีการแบน “หัวเว่ย” และ “แซดทีอี” ไม่ให้เข้าพัฒนาเครือข่าย 5G ของประเทศ

นายสก็อต มอร์ริสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จากพรรคเสรีนิยม เข้าสาบานตนเป็น “นายกรัฐมนตรีคนใหม่” ของออสเตรเลียเมื่อสัปดาห์ก่อนหลังจากที่พรรคมีมติ 45 ต่อ 40 เสียงเลือกให้เขาเป็นหัวหน้าพรรคแทน นายมัลคอล์ม เทิร์นบูล ซึ่งได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนมีการแถลงผลเลือกประธานพรรค

ขณะที่ เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ สื่อชั้นนำของจีนตั้งคำถามทันทีว่า “ออสเตรเลียภายใต้การนำของสก็อต มอร์ริสัน อาจเป็นข่าวร้ายสำหรับจีน ?”

แม้ว่าในระหว่างการสาบานตนนายกฯมอร์ริสันประกาศว่า เรื่องแรกที่จะให้ความสำคัญมากที่สุด คือ การช่วยเหลือเกษตรกรในรัฐนิวเซาท์เวลส์ รวมถึงรัฐอื่น ๆ ที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้งครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปีส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจออสเตรเลียอย่างมาก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตร เช่น ไวน์ และปศุสัตว์ พร้อมย้ำว่าแนวทางของออสเตรเลียในเวทีโลกจะยังเหมือนเดิม แต่หนึ่งในสุนทรพจน์ที่น่าสนใจ คือ “เราจะจัดสมดุลของเศรษฐกิจออสเตรเลีย และยับยั้งกิจกรรมใด ๆ จากต่างประเทศที่ออสเตรเลียกำลังถูกเอาเปรียบในปัจจุบัน โดยเฉพาะในด้านการลงทุนและแทรกแซงความมั่นคง”

รายงานข่าวได้ระบุถึงนายกรัฐมนตรีคนใหม่แห่งแคนเบอร์ราว่า แนวคิดของเขาถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “เอียงขวา” หรืออนุรักษนิยม แม้ว่าจะไม่สุดโต่งเท่ากับสมาชิกพรรคหลายคน แต่ผลงานที่ผ่านมาตั้งแต่สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคนเข้าเมือง มอร์ริสันก็ได้รับการขนานนามว่ามีนโยบายแข็งกร้าวที่สุด คือ “หยุดยั้งเรือมนุษย์” หมายถึงไม่ให้ผู้ลี้ภัยเข้ามาพักพิงในออสเตรเลีย เพราะเหตุผลในเรื่องความมั่นคงของประเทศ และจำนวนของผู้ลี้ภัยที่มากเกินไป

นอกจากนี้ ระหว่างการเป็นรัฐมนตรีการคลัง นายมอร์ริสันเป็นหนึ่งในทีมร่างกฎหมายสมัยรัฐบาลเทิร์นบูลเป็นผู้จุดประกายเรื่องการแทรกแซงการเมืองจากต่างประเทศ และพุ่งเป้ามาที่จีนโดยตรง อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศไม่ราบรื่นในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการเมืองออสเตรเลียในปักกิ่ง มีความคิดเห็นว่าเมื่อเทียบระหว่าง 2 แนวคิดของอดีตผู้นำอย่างนายเทิร์นบูลกับนายก ฯ ป้ายแดงนายมอร์ริสัน ยอมรับว่าสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและออสเตรเลียมีความตึงเครียดมากขึ้น เพราะนายมอร์ริสันมักดำเนินตามหลักแนวคิดการเป็น “ชาตินิยม”มากกว่าอดีตนายกฯเทิร์นบูล อีกทั้งมักจะหยิบยกประเด็นเรื่องความไม่มั่นคงของประเทศมาเป็นเหตุผลสนับสนุนนโยบายต่างๆ

อย่างกรณีการแบนหัวเว่ยและแซดทีอียักษ์ใหญ่โทรคมนาคมของจีน ไม่ให้เข้าร่วมการพัฒนาเครือข่ายมือถือ 5G ของออสเตรเลีย โดยอ้างถึงความเสี่ยงที่จะถูกต่างชาติแทรกแซง โดยระบุในแถลงการณ์ว่าการเลือกซัพพลายเออร์ที่มีแนวโน้มจะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จะทำให้โครงข่ายสื่อสารของออสเตรเลียเสี่ยงต่อการถูกเข้าถึงหรือแทรกแซงโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งก็ยังเป็นประเด็นในตอนนี้เพราะฝ่ายหัวเว่ยออกมาตอบโต้ทันควันว่า รัฐบาลออสเตรเลียมีการเลือกปฏิบัติตามกฎหมาย จะทำให้โครงข่ายสื่อสารของออสเตรเลียเสี่ยงต่อการถูกเข้าถึงหรือแทรกแซงโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งก็ยังเป็นประเด็นในตอนนี้เพราะฝ่ายหัวเว่ย
ออกมาตอบโต้ทันควันว่า รัฐบาลออสเตรเลียมีการเลือกปฏิบัติ

ขณะที่ในปี 2017 ที่ผ่านมา นายมอร์ริสันได้เสนอกฎหมายควบคุมชาวต่างชาติที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในออสเตรเลีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีน บังคับให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มหากซื้อสินทรัพย์มาทิ้งไว้เฉย ๆ นานกว่า 6 เดือน เพื่อป้องกันการกว้านซื้อที่ดินโดยไม่จำเป็น

โดยให้เหตุผลว่า ออสเตรเลียต้องการให้มีการลงทุนจากต่างประเทศอย่างเหมาะสม และการลงทุนนั้น ๆ จะต้องตอบสนองเป้าหมายของรัฐบาล และสร้างผลประโยชน์ให้กับคนท้องถิ่น

นักวิเคราะห์การเมืองของเว็บไซต์ eurasiantimes กล่าวว่า แนวคิดและแนวทางการบริหารประเทศของนายมอร์ริสันต่อจีนที่สะท้อนภาพชัดที่สุด คือ จากที่เขาได้มีการกล่าวปาฐกถาที่สถาบัน Lowy ในซิดนีย์เมื่อ 2 ปีก่อนระบุว่า จีนกำลังเข้ามามีบทบาทอย่างมากในออสเตรเลียทั้งในแง่ของการค้าการลงทุนในฐานะเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย ขณะที่กระแสการเคลื่อนย้ายของชาวจีนที่เข้ามาในออสเตรเลียมากขึ้นเป็น 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน

“การเพิ่มอิทธิพลของจีนที่เป็นไปอย่างไม่ปกติ และกำลังสร้างหายนะให้กับออสเตรเลีย ทำให้พลเมืองไม่มีที่อยู่อาศัย และถูกเบียดเบียนมากขึ้น ขณะที่ไชน่าทาวน์ได้กลายเป็นเป้าหมายเชิงสัญลักษณ์ของคนจีนในทุกประเทศ รวมถึงออสเตรเลียที่อนุญาตให้เข้ามาตั้งรกรากได้”

อย่างไรก็ตาม มอร์ริสันได้กล่าวยกย่องถึงศักยภาพการค้าการลงทุนระหว่างจีนกับออสเตรเลีย แต่แนะนำว่าควรทำธุรกิจภายใต้ “สามัญสำนึก” เพื่อเลี่ยงปัญหาการเอาเปรียบกันและกัน และให้เกิดการค้าร่วมกันในระยะยาว