สัญญาณสะท้อนภาวะเงินเฟ้อในเวียตนาม

ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) เป็นตัวสะท้อนภาวะเงินเฟ้อได้เป็นอย่างดี เพราะหากราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการบริโภคสูงขึ้น เงินที่ผู้บริโภคถืออยู่ในมือย่อมซื้อสินค้านั้นๆ ได้น้อยลงหรือเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นนั่นเอง

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ดัชนีราคาผู้บริโภคในเวียดนามอยู่ที่ 4.67 เปอร์เซ็นต์ สูงขึ้นจากเดือนเดียวกันเมื่อปีก่อน

เป็นภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากระดับ 3.29 เปอร์เซ็นต์ตลอดครึ่งแรกของปี 2018 นี้ ตามตัวเลขของสำนักงานสถิติทั่วไปของเวียดนาม

ในขณะที่ทางการเวียดนามกำหนดเป้าหมายเอาไว้อยู่ที่ไม่เกิน 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ข้อมูลของทางการแสดงให้เห็นว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งรวมทั้งราคาน้ำมันดิบ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นมากดังกล่าว

 

ข่าวร้ายก็คือ ภาวะยังไม่มีวี่แววจะลด ในทางตรงกันข้าม กลับจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน

ตั้งแต่ค่าเงินด่องที่อ่อนค่าลงสืบเนื่องจากการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ทำให้สินค้าที่จำเป็นต้องนำเข้า อย่างเช่นน้ำมันดิบ ยิ่งสูงมากขึ้นไปอีก การเพิ่มจำนวนชนชั้นกลางในประเทศ และการขยายตัวของสินเชื่อ ก็มีส่วนผลักดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้น

ที่สำคัญ เวียดนามกำหนดจะเรียกเก็บ “ภาษีน้ำมัน” นับตั้งแต่เดือนตุลาคมที่จะถึงนี้เป็นต้นไป ก็จะยิ่งส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคถีบตัวสูงขึ้น ยิ่งจะทำให้เงินเฟ้อมากขึ้นไปอีก

ผู้บริโภคในเวียดนามเริ่มรู้สึกถึงผลกระทบจากภาวะนี้กันแล้ว

บางคนตั้งข้อสังเกตว่าราคาน้ำมันหน้าปั๊มสำหรับเติมรถยนต์และจักรยานยนต์ขยับแพงขึ้น ราคาข้าวที่เพิ่มสูงขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเทศกาลเท็ต หรือวันตรุษปีใหม่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ก็ไม่ได้ลดลงมามากเท่าที่ควร

ที่สำคัญ ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่เงินเดือนที่ได้รับกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนตามจนเพียงพอให้จับจ่ายซื้อหาสินค้าได้ตามปกติ

 

เวียดนามเพิ่งปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปในปีนี้ให้สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 6.5 เปอร์เซ็นต์ และกำหนดจะมีการปรับอีกครั้งให้เพิ่มขึ้น 5.3 เปอร์เซ็นต์ในปี 2019

การปรับเพิ่มดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ายังคงมีการสร้างตำแหน่งงานอย่างต่อเนื่อง ที่แสดงถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจซึ่งขับเคลื่อนโดยโรงงานการผลิตภายในเวียดนาม

ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีงานศึกษาทางวิชาการประเมินเอาไว้ว่า ภายในปี 2020 คนเวียดนามราว 1 ใน 3 จากจำนวนทั้งหมด 93 ล้านคน จะกลายเป็น “ชนชั้นกลาง” หรือสูงกว่านั้น

หลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวอยู่ที่ระดับเกือบ 6 เปอร์เซ็นต์ ปีนี้ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) คาดว่าจะสูงขึ้นอีกเป็น 7.1 เปอร์เซ็นต์ สูงที่สุดชาติหนึ่งในภูมิภาคนี้

ปัญหาก็คือ ถ้าจะรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้ ค่าแรงก็สูงขึ้นมากไม่ได้ เพราะแรงงานราคาถูกคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เวียดนามน่าลงทุน

การกดค่าแรงเอาไว้ในขณะที่เกิดภาวะเงินเฟ้อสูง เป็นปัญหาท้าทายอย่างยิ่งของเวียดนาม เหมือนกับที่เคยเป็นปัญหามาแล้วเมื่อ 10 ปีก่อน

เวียดนามปล่อยเงินเฟ้อให้สูงถึงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ในปีนั้น ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ใช้แรงงาน ที่ชุมนุมประท้วงกันนับร้อยๆ ครั้ง เรียกร้องค่าแรงเพิ่ม

เมื่อบวกกับการลดค่าเงินด่องลง ก็ฉุดเศรษฐกิจเวียดนามให้ขยายตัวแค่ 5.3 เปอร์เซ็นต์ในปีนั้น ลุกลามกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ที่ลดลงต่อเนื่องจนถึงปี 2011

เวียดนามคงไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นซ้ำอีกรอบในปีนี้