ชาวบ้านตั้งกลุ่มโยธะการักษ์ถิ่น ยันที่บรรพบุรุษ-ไม่ย้ายออก หลังกองทัพเรือขอคืนพื้นที่ 4 พันไร่

วันนี้ (26 สิงหาคม 2561) ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 ต.โยธะกา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ตัวแทนชาวบ้าน-หัวหน้าครอบครัวของชาวบ้าน หมู่ 2 หมู่ 10 หมู่ 11 และหมู่ 12 ในต.โยธะกา จำนวนประมาณ 100 คน ได้เข้าร่วมประชุมหารือกัน

เนื่องจากเมื่อกลางปี พ.ศ. 2557 ชาวบ้านตำบลโยธะกาได้รับหนังสือจากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ฉะเชิงเทรา แจ้งยกเลิกสัญญาเช่าและการเก็บค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดินราชพัสดุ และส่งมอบที่ดินคืนทหารเรือ ด้วยเหตุผลว่า กองทัพเรือมีแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณศูนย์เกษตรกรรมทหารเรือโยธะกา เพื่อใช้ประโยชน์ในราชการทหาร

หลังจากปี 2557 เป็นต้นมา สำนักงานธนารักษ์เลิกเก็บค่าเช่าที่ดินจากชาวบ้าน แต่ชาวบ้านยังคงใช้ที่ดินทำนาต่อไป ไม่มีใครส่งมอบที่ดินหรือย้ายออกไป

ปลายปี พ.ศ. 2560 ชาวบ้านได้รับหนังสืออีกครั้งจากกองทัพเรือ ขอให้ส่งมอบคืนที่ดินให้แก่กองทัพเรือ ภายใน 7 วัน โดยให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขนย้ายทรัยพ์สิน และบริวารออกไปจากที่ดิน พร้อมกับทำหนังสือส่งมอบที่ดิน พร้อมทั้งระบุว่า หากยังเพิกเฉย ทางราชการมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย หลังจากนั้นชาวบ้านได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงาน เพื่อร้องเรียนและขอสิทธิในการใช้ที่ดินต่อไป

ต่อมา ได้มีการลงข่าวคำให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมธนารักษ์ ในข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2561 ระบุว่า กรมธนารักษ์ได้จัดหาที่ราชพัสดุสนับสนุนโครงการอีอีซีใน 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง กว่า 11,000 ไร่ ในส่วนของฉะเชิงเทรานั้น เป็นที่ของกองทัพเรือที่ส่งคืนให้กรมธนารักษ์ อยู่ใน อ.บางน้ำเปรี้ยว พื้นที่ประมาณ 4,000 ไร่เศษ อยู่บริเวณศูนย์เกษตรกรรมทหารเรือ ที่ตำบลโยธะกา ซึ่งได้ส่งมอบให้อีอีซีไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนจะนำไปพัฒนาเป็นอะไรขึ้นกับอีอีซีจะกำหนด

อนึ่ง จำนวนผู้ได้รับผลกระทบจากการยกเบิกสัญญาเช่าดังกล่าว ประกอบด้วย ผู้เดือดร้อนเฉพาะที่อยู่อาศัย ผู้เดือดร้อนทั้งที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน และผู้เดือดร้อนเฉพาะที่ดินทำกิน ในพื้นที่ หมู่ 2 หมู่ 10 หมู่ 11 และหมู่ 12 รวม 166 ครัวเรือน มีผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 635 คน

ดังนั้นวันนี้จึงได้มีการนัดหมายตัวแทนชาวบ้านจากทั้ง 4 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวของผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการขอคืนที่ดินของกองทัพเรือ เพื่อใช้สนับสนุนในในโครงการอีอีซี ซึ่งที่ประชุมได้มีมติ ก่อตั้งกลุ่ม”โยธะการักษ์ถิ่น” ขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดสรรที่ดินทั้งที่ี่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้กับชาวบ้านในรูปของการเช่าซื้อที่ดินระยะยาว 30 ปี จากกองทัพเรือ และเพื่อสร้างความมั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน และเตรียมเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมต่อไป

ทั้งนี้ ในเชิงประวัติศาสตร์ตำบลโยธะกา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2480 โดยการแยกมาจากตำบลดอนเกาะกา และตำบลหมอนทอง ทั้งสองตำบลเป็นชุมชนเก่าแก่ ตั้งขึ้นประมาณในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2416 – 2453) การตั้งถิ่นฐานและบุกเบิกที่ดินของชาวโยธะกา เกิดขึ้นจากการจับจองบุกเบิกที่ดินจากผู้คนในท้องถิ่น และผู้คนที่อพยพมาสร้างครอบครัว และชาวบ้านถิ่นอื่นที่ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานบุกเบิกจับจองที่ดิน ในสมัยนั้นบริเวณตำบลโยธะกายังเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า โดยมาจาก 3 ทาง คือ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม อำเภอองค์รักษ์ จังหวัดนครนายก และอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี

แต่การขุดคลองผ่านตำบลโยธะกา ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งได้ให้บริษัททำการขุดคลองได้เป็นเวลา 25 ปี และให้สิทธิบริษัทจับจองที่ดิน 2 ฝั่งคลองเว้นจากที่หลวง 1 เส้นขึ้นไปฟากละ 40 เส้น ตลอดลำคลอง รวม 80 เส้น ตั้งแต่วันที่ได้ขุดคลอง เป็นผลให้ที่ดิน ในตำบลโยธะกาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทคูนาสยาม และมีการเปลี่ยนมือหลายครั้ง จนกระทั่งกองทัพเรือกองทัพเรือได้ใช้เงินงบประมาณในการจัดซื้อที่ดิน จำนวน 3 แปลง จำนวนรวม 4000 ไร่ เมื่อพ.ศ. 2491 ในขณะนั้น มีชาวบ้านได้ใช้ที่ดินทำนาอยู่ก่อนแล้ว

สำหรับความเคลื่อนไหวของชาวบ้านโยธะกา Land Watch THAI จับตาปัญหาที่ดิน จะรายงานให้ทราบในโอกาสต่อไป

อ่านบทความ ประวัติศาสตร์ที่ดินชาวนาตำบลโยธะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ http://landwatchthai.org/1108