ไม่โทษกินขนมตอนดึก! วิจัยชี้ นอนไม่พอ-ถูกรบกวน กระทบระบบเผาผลาญเสี่ยงโรคอ้วน

เดอะ การ์เดี้ยน รายงานว่า ผลการวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับการนอนหลับว่า การถูกรบกวนการนอนหลับในช่วงเวลากลางคืนจะทำให้ “ระบบเผาผลาญทำงานน้อยลง” และร่างกายจะมีความสามารถ “กักเก็บไขมัน” ไว้ได้ดีขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุหลักที่นำไปสู่โรคอ้วนมากกว่า “การกินขนม” ในเวลาดึก

ในขณะเดียวกันงานวิจัยชิ้นนี้รายงานว่า ผลกระทบต่อ “นาฬิกาชีวิต” ซึ่งเป็นผลพวงจากการถูกรบกวนขณะนอนหลับจะก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพ ตั้งแต่โรคหัวใจจนถึงโรคเบาหวาน

โจนาธาน ซีเดอเนย์ส นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Uppsala ในประเทศสวีเดน และเป็นผู้เขียนงานวิจัย กล่าวว่า  “การนอนหลับไม่ใช่เพียงการประหยัดพลังงานของร่างกาย แต่ยังมีฟังก์ชั่นอีกหลายอย่าง” ซึ่งการค้นพบนี้ โจนาธานต้องการชี้ให้เห็นถึงฟังก์ชั่นอื่นๆ ที่ไม่มีอะไรสามารถทดแทนการนอนหลับได้

งานวิจัยเกี่ยวกับการนอนหลับก่อนหน้านี้หลายชิ้นมักเชื่อมโยง “การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ” เข้ากับโรคอ้วนและโรคเบาหวาน แต่ละเลยอธิบายเหตุผลในกระบวนการเชื่อมโยงเพราะเป็นสิ่งที่ “ยากจะอธิบาย”

การนอนหลับที่ไม่เพียงพอจะรบกวนฮอร์โมนส์ที่ทำหน้าที่ควบคุมความอยากอาหารและความอิ่ม ดังนั้นแล้วคนที่นอนไม่เพียงพอจึงกินมากกว่าปกติ และอาจเหนื่อยหน่ายการออกกำลังกาย รวมทั้งไม่สามารถต้านทานขนม-ของว่างที่ไม่ดีต่อสุขภาพได้ โดยงานวิจัยก่อนหน้านี้ของโจนาธานก็แสดงผลเช่นเดียวกันว่า คนที่ถูกรบกวนการนอนหลับเล็กน้อยมักเลือกทานอาหารที่มีแคลอรี่สูงและทานจำนวนมากกว่าปกติ ยิ่งไปกว่านั้น โรคอ้วนมักก่อให้เกิดความเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ซึ่งมีผลต่อการนอนหลับที่สนิทระหว่างคืน

ผลการศึกษาล่าสุดค้นพบว่า การนอนหลับที่ถูกรบกวนมีผลโดยตรงกับระบบเผาผลาญและการสมดุลระหว่างไขมันกับกล้ามเนื้อ

งานวิจัยนี้ถูกตีพิมพ์ลงวารสาร Science Advances โดยมีอาสาสมัครที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง 15 คนเข้ารับการทดสอบและเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อกับไขมัน และเลือด ในคืนที่นอนหลับเป็นปกติกับคืนที่ไม่ได้นอนทั้งคืน

เนื้อเยื่อไขมันของอาสาสมัครที่ถูกรบกวนการนอนแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงว่ามีการเพิ่มของเซลล์ดูดซับไขมัน ตรงกันข้ามกับเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อที่ลดระดับโครงสร้างโปรตีน ซึ่งเป็นส่วนที่ร่างกายต้องการรักษาโครงสร้างกล้ามเนื้อ

“การขาดการนอนหลับจะลดโปรตีน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างกล้ามเนื้อ” ซีเดอเนย์ส กล่าวและต่อว่า มีความเป็นไปได้ที่การควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกายจะต่อต้านการเปลี่ยนแปลงข้างต้น

ทั้งนี้ งานวิจัยยังชี้ถึงผลเสียของการถูกรบกวนในขณะนอนหลับต่อแผลอักเสบ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับโรคเบาหวานประเภทสอง

ความเชื่อมโยงระหว่างการนอนหลับไม่เพียงพอและความเจ็บป่วยยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วทั้งโลก และคนส่วนมากก็มีแนวโน้มรูปแบบการนอนหลับที่เปลี่ยนไป