เตือนเกษตรกรเร่งขึ้นทะเบียนภายใน31ส.ค.ก่อนถูกตัดสิทธิ

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ในปี 2561 มีเป้าหมายการขึ้นทะเบียนหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรทั้งหมด จำนวน 5,700,000 ครัวเรือน ทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันมีเกษตรกรมาขึ้นหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร จำนวน 4,758,382 ครัวเรือน คิดเป็น 83.48% จากเป้าหมายการขึ้นทะเบียนเกษตรกรทั้งหมด ซึ่งยังมีเกษตรกรอีกประมาณ 1 ล้านครัวเรือน ที่ยังไม่มีการมาแจ้งปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ทำให้กรมส่งเสริมการเกษตรต้องเร่งรัดการขึ้นทะเบียนเกษตรกรดังกล่าว อย่างไรก็ตามกรณีที่เกษตรกรไม่มาปรับปรุงทะเบียนนานเกิน 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 จะถูกตัดบัญชีทะเบียนเกษตรกรทิ้งทันที ทำให้หมดสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ

นายสมชายกล่าวถึงความคืบหน้าตาม ครม.มีมติเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2561/62 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว และปรับปรุงคุณภาพ โดยการจ่ายค่าเก็บเกี่ยว และปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ไร่ละ 1,500 บาท ตามพื้นที่ปลูกข้าวจริงไม่เกินครัวเรือนละ 12 ไร่ หรือคิดเป็นเงินไม่เกินครัวเรือนละ 18,000 บาท ขณะนี้มีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อรับสิทธิแล้ว จำนวน 2,928,706 ครัวเรือน และผ่านการตรวจสอบพื้นที่เพื่อรับเงินแล้ว จำนวน 354,209 ครัวเรือน โดยจะสิ้นสุดการรับขึ้นทะเบียนเพื่อรับสิทธินี้ ในวันที่ 31 สิงหาคม 2561 เพื่อส่งมอบบัญชีทะเบียนเกษตรกรทั้งหมดที่ผ่านการตรวจสอบแล้วให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการต่อไป

“ประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากการขึ้นทะเบียนหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรนั้น คือ 1.เป็นฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรในการพิจารณาช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ หรือมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ของรัฐ 2.เป็นเอกสารยืนยันตัวตนความเป็นเกษตรกร และ 3.เกษตรกรได้รับสิทธิความช่วยเหลือในกรณีประสบภัยพิบัติ หรือตามมาตรการแก้ปัญหาและจ่ายเงินชดเชยเยียวยาจากภาครัฐ” นายสมชายกล่าว และว่า ส่วนการปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรนั้นสามารถแจ้งได้หลายช่องทางคือ 1.ให้เกษตรกรติดต่อสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ทำการเกษตร 2.แจ้งผ่านอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) 3.แจ้งผ่านสมุดทะเบียนเกษตรกรอิเล็กทรอนิกส์ หรือแอพพลิเคชั่น DOAE Farmbook ซึ่งแอพพลิเคขั่นนี้จะทำให้เกษตรกรทราบข้อมูลของตนเองได้ตลอดเวลาและมีความสะดวกในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้ไม่ต้องเดินทางไปยังสำนักงานเกษตรอำเภอ