‘นายกฯ’ เผยครม.สัญจรไม่มีอนุมัติโครงการ ถามถ้าให้หมด เอาเงินที่ไหน? ยันศก.เริ่มดี

“นายกฯ” เผย ไม่มีการอนุมัติโครงการใน ครม.สัญจร วอนเข้าใจบริหารภาครัฐ ให้ทั้งหมดที่ขอ จะหาเงินจากไหน

ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จ.ชุมพร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ครั้งที่ 6/2561 (ครม.สัญจร) ว่าการประชุม ครม.นอกสถานที่ครั้งนี้ไม่ได้อนุมัติอะไร เพียงแต่เป็นการรับฟังข้อเสนอแนะของภาคเอกชน สภาเกษตรกร ในเรื่องที่ต้องดำเนินการเกี่ยวกับศักยภาพของ 11 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ 80 เปอร์เซ็นต์รัฐบาลมีแผนงานที่จะลงทุนและดำเนินการ และได้รับข้อเสนอส่วนที่เหลือเพื่อไปพิจารณา ตนบอกหลายครั้งแล้ว เวลามาไม่ใช่อนุมัติทุกเรื่อง ต้องไปดูงบประมาณ จัดลำดับความเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ที่ต้องทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้น

นายกฯกล่าวว่า ที่มีการเสนอมา 5 ด้าน ได้แก่ เรื่องโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว การยกระดับผลผลิตการเกษตร การพัฒนาการคุณภาพชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถ้าถามมาว่าจะอนุมัติโครงการเมื่อไหร่ อย่างไร ยังตอบไม่ได้ ต้องไปดูแผนงานว่าอะไรที่มีอยู่แล้วบ้าง ถ้าไม่มีก็จะปรับแผนให้ ถ้ามาวันนี้อนุมัติทั้งหมดก็ประมาณ 40,000 กว่าล้านบาท จะหาเงินที่ไหนให้ได้ ต้องเข้าใจการบริหารงานของรัฐบาล ไม่ใช่ให้ทั้งหมด ต้องรับไว้ศึกษา รับไว้เริ่มต้น รับไว้ปรับของเดิมเพื่อให้ตรงกับศักยภาพ หากย้อนหลังไปดู 10-20 ปีที่แล้ว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาคใต้ทัดเทียมคนอื่นหรือไม่ หลายอย่างไม่ได้รับการพัฒนา ซึ่ง 4 ปีที่ผ่านมาเราให้เรื่องโครงสร้างพื้นฐานลงไปเยอะ โดยโครงการ SEC ก็เช่นกัน เริ่มต้นที่ จ.ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช และสร้างห่วงโซ่ไปจังหวัดอื่น ซึ่งการลงทุนเหล่านี้จะอยู่ในกฎกติกาที่มีคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ปกติ, BOI EEC และ BOI SEC ทั้งนี้ รัฐบาลทำตามกรอบแผนงานทุกอย่าง ไม่ใช่ใครอยากเสนองบประมาณอะไรเข้ามาก็อนุมัติ จะต้องดูแลงบประมาณเหล่านี้ด้วย

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้รัฐบาลทำหลายเรื่องด้วยกัน ทั้งเรื่องการทำความเข้าใจในยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทแผนงานโครงการต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนในการใช้งบประมาณ ทุกอย่างที่เสนอมาต้องมาเชื่อมเข้ากับแผนแม่บท มีแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 1-2 และ 3-ปี ซึ่งเป็นแผนแม่บท 5 ปีแรก ดังนั้นทุกอย่างอยู่ในกรอบนี้หมด จะอนุมัติให้พร้อมกันไม่ได้

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า ในที่ประชุม ครม.สัญจร ได้เน้นย้ำการรักษาความสะอาด กำจัดขยะถุงพลาสติก ในเมื่อเราจะทำให้ฝั่งทะเลอ่าวไทยเป็นไทยแลนด์ริเวียร่าก็จะต้องไปเน้นเรื่องของความสะอาด การจัดระเบียบต่างๆ ที่จะไม่สร้างผลกระทบความเดือดร้อนให้ประชาชนในพื้นที่ และได้ประโยชน์ ตนนั่งรถผ่านถนนเลียบชายหาดฝั่งทะเลชุมพรแต่มีบ้านประชาชนอยู่ฝั่งขวาที่ติดทะเลซึ่งเป็นเส้นทางหนึ่งที่ลากมาอยู่ในไทยแลนด์ริเวียร่าจะต้องไปดูว่าจะพัฒนาอย่างไร อย่างน้อยชายหาดต้องสะอาด ปลอดโปร่งโล่งจากการค้าขายให้ไปจัดตั้งตามแนวบ้านเรือนที่มีอยู่แล้วเดิม อะไรที่จะเริ่มต้นใหม่ต้องทำให้ถูกตั้งแต่ต้น ทั้งเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ได้หารือถึงมาตรการดูแลพืชผลการเกษตรทั้ง 6 ชนิด ได้แก่ ข้าว ปาล์ม ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย และข้าวโพด ซึ่งจะต้องไปดูการบริหารจัดการที่มีอยู่เดิม เพราะมีเกษตรกรทำกันทั่วไป และวันนี้มีการส่งเสริมอีกหลายอย่าง เช่น กล้าพันธุ์ปาล์ม ถ้าปลูกเพิ่มไปกว่านี้มันพอดี ตอนนี้ปลูกใน จ.ชุมพร 9 แสนไร่เข้าไปแล้ว ก็เหมือนกับยางพาราที่เมื่อก่อนสนับสนุนพันธุ์ยางไปเท่าไหร่กี่ล้านต้น ก่อนๆ นี้จำได้ไหมก็ปลูกเพิ่มทุกพื้นที่ บางพื้นที่ก็ไม่ควรปลูกก็ไปปลูก ทำให้ปริมาณมากขึ้น ไม่มีตลาดจะขาย วันนี้ก็เกินปริมาณขายได้ไปจำนวนมาก ต้องมาดูและจัดระเบียบของเก่า จะทำอย่างไรการจะปลูกใหม่ วันนี้ก็ให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลหรือบิ๊กดาต้า ในการปลูกพืชทั้งหมดว่าพื้นที่ใดปลูกในพื้นที่ถูกหรือผิดกฎหมายที่จะต้องหามาตรการแก้ไข มิเช่นนั้นวันหน้าเราจะมีปัญหามาตรการทางการค้าของต่างประเทศจะตรวจสอบที่มาทั้งหมดของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ว่าปลูกในพื้นที่ที่ถูกกฎหมายหรือไม่ เพราะต้องรักษากติกาการรักษาสภาพทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่มีสัญญาระหว่างกันของทุกกลุ่มประเทศ วันนี้หลายประเทศก็มีความเดือดร้อนในเรื่องเหล่านี้

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงโครงการประชารัฐและไทยนิยมว่า ขณะนี้มีความก้าวหน้าตามลำดับ โดยเฉพาะโครงการไทยนิยมได้รับการตอบรับมากขึ้น ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ประชาชนเริ่มมีความเข้าใจมากขึ้นว่าเป็นการเริ่มต้นเป็นกระบวนการระเบิดจากข้างใน แล้วในส่วนของท้องถิ่น ในส่วนของงบประมาณส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคก็จะเติมไปทีหลัง ซึ่งส่วนนี้ให้ประชาชนเป็นคนคิดเอง

นายกฯกล่าวต่อว่า เรื่องการลงทุนในโครงการอีอีซี หรือโครงการอะไรก็แล้วแต่ ทั้งหมดต่อไปนี้จะต้องพิจารณาจัดสัดส่วนในการลงทุน บางอันถ้าเป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องให้การบริการประชาชนเราก็ต้องดำเนินการให้ในฐานะเป็นรัฐบาล ในส่วนไหนก็ตามที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ก็อาจต้องคุยกับภาคเอกชนหรือพีพีพีให้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นปัญหา จะได้ช่วยแบ่งเบาไปบ้าง คนที่มีรายได้ดีก็อาจจะต้องมีการเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องการลงทุนของภาคเอกชนที่ต้องมีผลตอบแทนที่พอสมควร

นายกฯกล่าวด้วยว่า ขอบคุณผู้ว่าฯชุมพร และผู้ว่าฯระนอง ในการเตรียมการเรื่องการประชุมนอกสถานที่ เอาแผนงานของรัฐและแผนงานความต้องการของประชาชนในพื้นที่ผ่านกลไกภาคเอกชน และผ่านสภาเกษตรกรต่างๆ ขึ้นมาเพื่อเป็นการสื่อสาร 2 ทาง และปรับทุกอย่างให้ตรงกับความต้องการและสอดคล้องกับการใช้งบประมาณของประเทศ การทำงานของรัฐบาลรายละเอียดข้างล่างเป็นเรื่องของการปฏิบัติ รายละเอียดข้างบนเป็นเรื่องของนโยบาย ดังนั้นต้องแยกให้ออกว่าอะไรคือนโยบาย ซึ่งรัฐบาลพยายามคิดในหลายทาง มีผลเสียอะไรหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ส่วนข้างล่างก็เป็นของฝ่ายที่ปฏิบัติ เรื่องการทุจริตก็ว่ากันไป

“จากข้อมูลสมาคมหอการค้าหรือหลายประเทศจะเห็นว่าสถิติเราดีขึ้น วันนี้เศรษฐกิจรายไตรมาสก็ดีขึ้น เรื่องทุจริตก็ดีขึ้น รายได้ประเทศก็ดีขึ้น ถือเป็นความก้าวหน้าของประเทศของเรา เราอย่าไปทำให้ถอยหลังด้วยการเมือง หรืออะไร คนละเรื่องกัน ค่อยไปว่ากันเรื่องการเมือง ข้อสำคัญวันหน้ารัฐบาลต่อไปจะทำอย่างไร ก็สอดคล้องและต่อเนื่อง ถ้าไปล้มกันใหม่ ทำกันใหม่ก็เหมือนเดิม ประเทศไทยก็กลับที่เก่า ดังนั้นกำหนดการต่างๆ ก็ยังเหมือนเดิมที่ประกาศไว้ทั้งหมด แต่ละหน่วยงานเขาก็พูดของเขาไปตามหลักการ แต่ท้ายที่สุดก็ต้องมาปรับกันอยู่แล้ว แต่ผมก็ยังยืนยันว่ากุมภาพันธ์เหมือนเดิม”