“กทม.” ทุ่ม 80 ล้าน จัดถังดับเพลิงล็อตใหญ่ 5 หมื่นถังให้ทุกชุมชนใช้ปลายปี 61

วันที่ 21 สิงหาคม 2561 นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการจัดซื้อถังดับเพลิงสำหรับแจกจ่ายตามชุมชนทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า กทม.เคยจัดซื้อถังดับเพลิงล็อตใหญ่แจกจ่ายประชาชน เมื่อปลายปี 2554 แต่ขณะนั้นเกิดปัญหาการจัดซื้อถังดับเพลิงไม่มีคุณภาพ โดยตัวถังเกิดระเบิด ตัวถังไม่ดี หลายหน่วยงานจึงได้ร่วมกันตรวจสอบ ต่อมาทำให้สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเกิดความกังวลในการจัดซื้อ เพราะเกรงจะเกิดปัญหาเดิม จึงไม่เคยจัดซื้อถังดับเพลิงอีกตั้งแต่นั้นมา มองว่าแนวคิดดังกล่าวอาจบั่นทอนคุณภาพชีวิตและทำให้ความปลอดภัยลดน้อยลง

ล่าสุด พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.กำชับให้เร่งรัดและมอบนโยบายดำเนินการ เพราะมีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งภายใน 1-2 วันนี้จะขอจัดสรรงบประมาณราว 80 ล้านบาท ในการจัดซื้อถังดับเพลิง ขณะเดียวกันกิจกรรม “ชุมชนคุยกับผู้ว่าฯอัศวิน” เปิดโอกาสให้ชุมชนพบปะ พูดคุยกับผู้ว่าฯกทม.และคณะผู้บริหารกทม. ภายในกิจกรรม “กทม.เติมสุข สู่ชุมชน” ตามโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน เพื่อชุมชนอยู่ดีมีสุข” จัดขึ้นหลายครั้งที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ชุมชนสะท้อนปัญหาขอให้ กทม.ติดตั้งถังดับเพลิงในชุมชน เป็นความต้องการอันแรกแรก เพราะปัจจุบันตัวถังหมดอายุการใช้งานแล้ว

นายสกลธีกล่าวอีกว่า เบื้องต้นสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสำรวจข้อมูลความต้องการของชุมชนเพื่อติดตั้งถังดับเพลิงในแต่ละชุมชน พบ กทม.จะต้องจัดซื้อประมาณ 50,000 ถัง แบ่งเป็นถังดับเพลิงชนิดเคมีแห้ง (ถังสีแดง) ใช้ดับเพลิงประเภทเอ (A) เป็นเพลิงเกิดจากของแข็ง กระดาษ ไม้ ผ้า พลาสติกและยาง และประเภทบี (B) เกิดจากน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซหุงต้ม ประมาณร้อยละ 80 ส่วนที่เหลือเป็นถังดับเพลิงเคมีสูตรน้ำ (ถังสีเขียว) จะใช้ดับไฟทุกประเภท โดย กทม.จะเร่งจัดซื้อให้เร็วที่สุด พร้อมจัดหลักสูตรอบรมความรู้พื้นฐานในการใช้ถังดับเพลิง เพื่อให้ชุมชนสามารถระงับเหตุขั้นเบื้องต้นได้ ก่อนลุกลามสร้างความเสียหายมหาศาลต่อชุมชน

“หลังจากนี้ คาดจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการจัดซื้อจ้าง ตามระบบอี-บิดดิ้ง อย่างน้อยปลายปี 2561 จะได้ถังดับเพลิงแจกจ่ายชุมชน ทั้งนี้ ผมได้มอบนโยบายให้สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรัดกุมในทุกขั้นตอนจัดซื้อ เพื่อให้ได้ถังดับเพลิงที่มีคุณภาพดีที่สุด รวมถึงจะจัดทำคิวอาร์โค้ดบนตัวถังเพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาย้อนกลับ อาทิ อายุการใช้งาน ผู้จัดซื้อ เป็นต้น เพื่อให้ทุกกระบวนโปร่งใสและตรวจสอบได้” นายสกลธี กล่าว