พลิกคดีตุ๋นบิตคอยน์ ป.บุกจับนายแบบ “บูม” ลวงเหยื่อลงทุน700ล. พบโยงถึงผู้กองคนดัง

คืบหน้าไปเป็นลำดับ สำหรับการดำเนินการกับขบวนการฉ้อโกงรูปแบบใหม่

ที่ลวงเหยื่อลงทุนด้วยเงินดิจิตอล วาดฝันว่าจะได้รับผลตอบแทนมหาศาล

สุดท้ายเหยื่อชาวต่างชาติก็ต้องสูญเสียมหาศาล คิดเป็นเงินไทยร่วม 800 ล้านบาท

ขณะที่การดำเนินคดีหลังจากที่บุกจับดารานายแบบ ที่ร่วมขบวนการได้แล้ว ก็สาวลงไปเรื่อยๆ

จนกระทั่งพบเครือข่ายเชื่อมโยงถึงครอบครัวของนายแบบหนุ่ม ที่มีพี่ชายเป็นหัวโจกในการดำเนินการ

ยังเชื่อมโยงไปถึงบิ๊กตลาดหุ้น และบริษัทอีกหลายแห่ง รวมไปถึงผู้กองคนดัง

เป็นเรื่องที่จะต้องคลี่คลายให้กระจ่าง

จับดารา”บูม”ตุ๋นบิตคอยน์

ค่ำวันที่ 8 ส.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด ผบก.ป. บุกเข้าจับกุม นายจิรัชพิสิษฐ์ หรือ บูม จารวิจิต อายุ 27 ปี ดารานักแสดงดาวรุ่ง ตามหมายจับศาลอาญาที่ 1694/2561 ลงวันที่ 26 ก.ค.2561 ข้อหา “ร่วมกันฟอกเงิน” คาลานจอดรถห้างเมเจอร์รัชโยธิน ขณะกำลังถ่ายทำละครเรื่องใหม่

หลังจากที่ นายอาร์นี ออตตาวา ซาอ์ริมาอ์ ชาวฟินแลนด์ เข้าแจ้งความกับกองปราบฯเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2561 ระบุว่า เมื่อประมาณมิ.ย.2560 ได้รู้จักกับกลุ่มผู้ต้องหา ซึ่งเป็นกลุ่มที่ชอบลงทุนในสกุลเงินดิจิตอล จากนั้นก็ติดต่อเรื่องการลงทุนธุรกิจกันเรื่อยมา

จนกระทั่งถูกชักชวนให้ลงทุนซื้อ-ขายเงินดิจิตอล ดราก้อน คอยน์ (DRG) โดยการซื้อหุ้นของบริษัท เอ็กซ์เปย์ ซอฟท์แวร์ จำกัด, NX Chain Inc. และหุ้นของบริษัทดีเอ็นเอ 2002 จำกัด (มหาชน) อ้างว่าเป็นบริษัทที่สามารถทำกำไรได้สูง

จึงหลงเชื่อร่วมลงทุนด้วยการโอนเหรียญบิตคอยน์ (สกุลเงินดิจิตอล) จำนวน 5,564.44650956 เหรียญ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 797,408,454.33 บาท ไปยังกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-wallet) ของกลุ่มผู้ต้องหา และพวกที่เปิดร่วมกันเพื่อรองรับการโอนเงิน

ที่ไหนได้เมื่อโอนเงินดิจิตอลไปแล้ว กลุ่มผู้ต้องหา ถอนเงินสกุลบิตคอยน์ไปขายแปลงเป็นเงินสกุลไทย แล้วโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารพาณิชย์ที่เปิดรองรับ ก่อนจะโอนเงินที่ได้มาแบ่งกัน

เมื่อตรวจสอบเส้นทางการเงิน จึงรวบรวมหลักฐานขออำนาจศาลออกหมายจับผู้ต้องหากลุ่มแรก 3 คน ประกอบด้วย นายจิรัชพิสิษฐ์ นายปริญญา จารวิจิต น.ส.สุพิชฌาย์ จารวิจิต เป็นพี่ชายและพี่สาวของนายจิรัชพิสิษฐ์ ซึ่งอยู่ระหว่างการติดตามตัว

สำหรับ นายจิรัชพิสิษฐ์นั้น เจ้าหน้าที่คุมตัวไปฝากขังที่ศาลอาญา เมื่อช่วงสายวันที่ 10 ส.ค. พร้อมคัดค้านการขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยระบุว่าเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีและเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

ขณะที่ญาตินายจิรัชพิสิษฐ์ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด 2 ล้านบาทขอประกันตัว โดยให้เหตุผลว่าผู้ต้องหาทำงานเป็นนักแสดง มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง รวมทั้งไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ขณะถูกจับกุมก็กำลังทำงานถ่ายแบบ

ศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งข้อหาและการกระทำของ ผู้ต้องหา เห็นว่าผู้ต้องหาไม่มีส่วนร่วมเจรจากับผู้เสียหายให้มาลงทุน อีกทั้งยังจับกุมในทางสาธารณะ โดยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ตีราคาประกัน 2 ล้านบาท กำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล

ได้ประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี

ลามครอบครัว-ผู้กองคนดัง

ส่วนการติดตามผู้ต้องหาที่เหลือ วันที่ 15 ส.ค. ตั้งแต่ช่วงเช้า น.ส.สุพิชฌาย์ ก็เดินทางมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่กองบังคับการกองปราบปราม หลังศาลอนุมัติหมายจับข้อหาร่วมกันฟอกเงิน ซึ่ง น.ส.สุพิชฌาย์ ให้การว่ารับเงินมาจาก นายปริญญา พี่ชายจริง และยอมรับว่า นายปริญญา โอนเงินเข้าบัญชีหลายครั้ง ทุกครั้งพี่ชายจะสั่งว่าต้องถอนเงินออกมาเท่าไหร่ และโอนออกเท่าไหร่

ตนมีหน้าที่แค่นำเงินเข้า-ออกจากบัญชีตามคำสั่งเท่านั้น นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เอาเงินไปทำธุรกรรมซื้อขายที่ดินเพื่อฟอกเงินด้วย เมื่อขายที่ดินได้ก็จะให้โอนเงินเข้าบัญชีนายปริญญา แต่ยืนยันว่าไม่เคยรู้ที่มาของเงินว่ามาจากที่ใด

ทั้งนี้ระหว่างการสอบปากคำน.ส.สุพิชฌาย์ร้องไห้ตลอดเวลา พร้อมปฏิเสธไม่ทราบเรื่องหลอกลวงประชาชน แต่ทำหน้าที่ตามคำสั่งของพี่ชาย และไม่เคยร่วมลงทุน หรือชักชวนใครมาประกอบธุรกิจแต่อย่างใด

จากนั้นเจ้าหน้าที่นำตัวน.ส.สุพิชฌาย์ไปฝากขังศาลอาญา รัชดาฯ โดยยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด 2 ล้านบาทเพื่อ ขอประกันตัว ซึ่งศาลพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล

ส่วนนายปริญญา พี่ชายนั้นพบว่าเคยมีคดีฉ้อโกงในพื้นที่สน.วัดพระยาไกร และก่อนถูกออกหมายจับเดินทางไปประเทศเกาหลีใต้ และต่อไปที่สหรัฐอเมริกา โดยมีกำหนดเดินทางกลับช่วงก.ย.นี้ หากพบว่ายังอยู่ที่สหรัฐอเมริกาจะประสานงาน ขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนต่อไป

นอกจากนี้เตรียมเรียกสอบพ่อแม่ของทั้ง 3 หลังพบมีหลักฐานเชื่อมโยงถึงการโอนเงิน 90 ล้านบาทเข้าบัญชีแม่ และแม่โอน ต่อไปยังบัญชีพ่ออีก 40 ล้านบาท

ไม่เพียงแค่นั้น หลักฐานยังเชื่อมโยงไปถึงผู้กว้างขวางในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อีก 4 ราย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับ และมีข่าวว่ามีบิ๊กคนหนึ่งพยายามติดต่อซื้อหุ้นคืนจากผู้เสียหาย เพื่อนำไปสู่การเจรจายอมความ

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่อายัดบัญชีเงินฝากทุกธนาคารของ 3 ผู้ต้องหา รวมทั้งผู้ใกล้ชิดที่อยู่ในครอบครัว “จารวิจิต” รวมทั้งหมด 51 บัญชี โดยขณะนี้ธนาคารพาณิชย์กำลังทยอยแจ้งตัวเลขเงินสดในบัญชีต่างๆ มายัง ปปง. เพื่อทราบยอดเงินอายัดทั้งหมด

และเมื่อสาวลึกลงไปพบว่าในบัญชีบริษัทดีเอ็นเอ 2002 จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่กลุ่มผู้ต้องหาใช้ลงทุนและ ต้มตุ๋น มีชื่อของนายธรรมนัส พรหมเผ่า หรือผู้กองมนัส อดีตนายทหารคนดังถือหุ้นอยู่ 425,924,500 หุ้น จึงจำเป็นต้องตรวจสอบ

โยงไปถึงผู้กองคนดัง

เปิดขั้นตอนชวนเหยื่อลงทุน

สำหรับพฤติการณ์ของขบวนการตุ๋นลงทุนบิตคอยน์นี้ คำร้องฝากขังระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 30 ม.ค. นายอาร์นี ออตตาวา ซาอ์ริมาอ์ (Mr.aarni Otava Saarimaa) ชาวฟินแลนด์ ซึ่งประกอบธุรกิจซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิตอล ผู้เสียหาย ประสานเข้าพบพนักงานสอบสวน เพื่อแจ้งความ ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับ นายปริญญา จารวิจิต พี่ชายของผู้ต้องหา กับพวก กรณีที่ได้ร่วมกันหลอกลวงเอาเงินของนายอาร์นีไปโดยทุจริต จำนวน 797,408,454.33 บาท

ต้นมิ.ย.2560 นายอาร์นี และน.ส.ชนนิกานต์ แก้วสาสี นักธุรกิจ ซึ่งรู้จักกับนายปริญญา นายประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ และนายปัณณ์ฉัตร ชยุตธนา ซึ่งทั้ง 3 คนเป็นนักธุรกิจ ชักชวนให้นายอาร์นี และน.ส.ชนนิกานต์มาร่วมลงทุน โดยได้ติดต่อผ่านนายปริญญา ผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ กระทั่งนัดหมายพูดคุยเจรจาธุรกิจกัน

โดยกลุ่มของนายปริญญานำเสนอธุรกิจหลากหลายรูปแบบให้นายอาร์นีพิจารณา และพวกของนายปริญญาอีก 3 คนก็ยังพูดชักจูงใจให้ผู้เสียหายร่วมลงทุนในบริษัทที่กลุ่มเพื่อนของนายปริญญาเป็นกรรมการ

ต่อมาผู้เสียหายซื้อหุ้นบริษัท เอ็กซ์เปย์ ซอฟท์แวร์ จำกัด โอนเหรียญบิตคอยน์ไปยังกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) ช่วงวันที่ 17-19 ก.ค.60 จำนวน 1,259.13 เหรียญบิต เป็นเงินมูลค่า 92,692,200 บาท

ต้นเดือนส.ค. 2560 นายปริญญายังชักชวนผู้เสียหายลงทุน ซื้อสกุลเงินดิจิตอล (dragon coin หรือ DRG) อีกเป็นเงิน 400 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง มีผู้ถือหุ้น 4 คน แต่ละคนจะต้องลงเงินคนละ 100 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง โดยเงินลงทุนในส่วนของผู้เสียหายสามารถโอนเป็นเหรียญบิตคอยน์ ผ่านกระเป๋าเงิน E-Wallet ได้

จากนั้นผู้เสียหายจึงเริ่มโอนเงินบิตคอยน์เข้ากระเป๋าเงิน E-Wallet ของนายปริญญากับพวก ระหว่างวันที่ 26 ส.ค.-5 ก.ย.60 รวม 2,958.75948993 เหรียญบิต คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 440,007,281.33 บาท

นายปริญญายังชักชวนผู้เสียหายไปซื้อหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทยด้วย โดยเสนอแผนธุรกิจว่าผู้เสียหายสามารถซื้อหุ้นได้สูงสุด 500 ล้านหุ้น ที่คิดเป็นเงิน 250 ล้านบาท โดยเสนอให้ผู้เสียหายชำระค่าเงินเป็นเงินบิตคอยน์ได้

ต่อมาวันที่ 14 ก.ย.-30 ธ.ค.2560 ผู้เสียหายโอนเงินเหรียญบิต 1,355.55701963 เหรียญบิต คิดเป็นมูลค่า 264,780,973 บาท แต่หลังจากนั้นนายปริญญาพี่ชายผู้ต้องหากับพวกได้นำเหรียญบิตคอยน์ที่ได้รับโอนมาจากผู้เสียหาย ทยอยขายออกไปแล้วถอนเงินออกจากกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ไปเข้าบัญชีธนาคารพาณิชย์ รวมทุกบัญชีทั้งสิ้น 745,783,761 บาท

จากนั้นโอนเงินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดไปมาระหว่างกันหลายครั้ง แล้วนำเงินไปเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มา หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นฯในการทำผิด ซึ่งนายปริญญานำเงินนั้นไปจดทะเบียนซื้อฝาก-ขายที่ดินรวม 14 แปลง มูลค่ากว่า 176,220,000 บาท

เป็นขั้นตอนแก๊งต้มตุ๋นไฮเทค