“พม่า” ดัน กม.อัญมณี หนุนแปรรูปเพิ่มมูลค่า

“พม่า” เป็นประเทศที่มีทรัพยากร “หยก” และอัญมณีอื่น ๆ เช่น ทับทิมและไพลิน คุณภาพสูงเป็นอันดับต้นของโลก แต่รัฐบาลยังไม่เคยออกนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม มีเพียงเมื่อต้นปีนี้ที่สมาคมผู้ประกอบการอัญมณีและเพชรพลอยได้จัดงานแสดงขึ้นครั้งแรกในกรุงย่างกุ้ง

ล่าสุดรัฐบาลพม่ามีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมอัญมณี โดยร่างกฎหมาย “สนับสนุนการค้าหยกและอัญมณี” เพื่อช่วยเหลือภาคเอกชน และบริษัทต่างชาติให้ซื้อขายได้สะดวก ทั้งวางกลไกการพัฒนาธุรกิจให้มีความเป็นธรรม ไม่เบียดเบียนผลประโยชน์ภาครัฐ

เมียนมาไทมส์เปิดเผยว่า ร่างกฎหมายนี้ครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการขอใบอนุญาต กระบวนการทดสอบและการผลิต การเก็บภาษี การขยายพื้นที่ทำตลาด การเพิ่มมูลค่าสินค้า และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

“อู ออง ยุนต์ เต่ง” กรรมการผู้จัดการ บริษัทอัญมณีเมียนมา ระบุว่า อุตสาหกรรมอัญมณีต้องการนโยบายที่ชัดเจนและครอบคลุม เพื่อบรรจุเป็นกฎหมายระยะยาวมุ่งสู่ความยั่งยืน

“หากร่างกฎหมายผ่านสภา จะกลายเป็นไกด์ไลน์สำหรับอุตสาหกรรมอัญมณี รัฐบาลร่างกฎหมายนี้ขึ้นมาเพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกรายได้รับผลประโยชน์อย่างทั่วถึง”

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายนี้ถูกส่งไปยังเมืองมยิจินา มัณฑะเลย์ โมนยวา โมโก๊ะ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการทำเหมืองหนาแน่น เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้มีส่วนร่วมได้แสดงความคิดเห็น

จุดประสงค์สำคัญของร่างกฎหมายนี้คือ “เพิ่มมูลค่า” สินค้าอัญมณี แม้ว่าเมียนมาจะรุ่มรวยด้านทรัพยากร แต่ยังขาดโนว์ฮาวในการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มที่ผ่านมาเมียนมาส่งอัญมณีในฐานะวัตถุดิบไปยังประเทศจีนและไทย เพื่อทำการแปรรูปและส่งขายไปทั่วโลก ทั้งนี้ “อู ตุน ฮว่า ออง” นักค้าอัญมณีท้องถิ่นและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เคยระบุว่า กว่า 80% ของอัญมณีเมียนมา ถูกส่งออกนอกประเทศอย่างผิดกฎหมาย

โดยปัญหาที่ทำให้มีการลักลอบส่งออกอัญมณีจำนวนมาก เพราะในประเทศไม่มีตลาดสำหรับผู้ประกอบการเหมืองท้องถิ่น หรือผู้ค้า ซึ่งจะขายสินค้าให้ต่างชาติได้เฉพาะในงานแสดงสินค้าที่จัดขึ้นเพียง 2 ครั้ง/ปีเท่านั้น

“นานมากแล้วที่พม่าไม่สามารถกำกับการค้าอัญมณี โดยเฉพาะกับจีนเพราะไม่มีข้อกฎหมาย ที่ผ่านมารัฐบาลปิดหูปิดตาทำให้เกิดช่องว่างและเสียโอกาสในทางการค้า”

ขณะที่กฎหมายการขุดเหมืองได้รับการผ่อนปรน เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมาอนุญาตให้ผู้ประกอบการเหมืองทั้งในและนอกประเทศเข้ามาลงทุนในพื้นที่ที่่เคยปิดห้าม โดยมีผู้ประกอบการเหมืองรายใหญ่จากต่างชาติ ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และจีน ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2016 กิจกรรมขุดเจาะเหมืองในเมียนมาหยุดชะงักลง เพราะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านและสิ่งแวดล้อม

แม้ว่าต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าที่กฎหมายสนับสนุนการค้าหยกและอัญมณีจะบังคับใช้อย่างเป็นทางการ แต่นี่ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับพม่า ในการเดินหน้าปฏิรูปอุตสาหกรรมภายในประเทศอย่างจริงจัง