จาตุรนต์ ชี้ บิ๊กตู่หัวเสียบ่อยช่วงนี้ เหตุขั้นตอน-ช่องทางได้เป็นนายกฯต่อเริ่มยาก

“จาตุรนต์” ชี้ วิธีที่ “ประยุทธ์” จะมาเป็นนายกฯด้วยวิธีที่ตรงไปตรงมา-สง่างามนั้นไม่มี ลั่น อยู่ต่อไปอาจจะเสื่อมจนเงื่อนไขทางการเมืองเปลี่ยน พร้อมฝากการบ้านกกต.ให้เสนอปัญหาที่เกิดจากคำสั่งคสช.ให้ผู้มีอำนาจทบทวน

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ระบุจะไม่ลงรับเลือกตั้ง แต่จะมาอย่างไรให้ดูตาม ว่า ความเข้าใจเดิมของคนที่สนใจการเมืองเข้าใจว่า พล.อ.ประยุทธ์มีความต้องการที่จะมาเป็นนายกฯในแบบคนนอกมาก่อนแล้ว และพยายามที่จะให้กมธ.เขียนกฎหมายเพื่อให้คนนอกได้รับเลือกโดย 2 สภาตั้งแต่ต้น แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้ออกมาอย่างนั้นจึงทำให้การเป็นนายกฯคนนอกยาก ต้องรอรอบ 2 และต้องใช้เสียงส.ส. และส.ว.สนับสนุนถึง 2 ใน 3 ดูเป็นการยาก หลายคนจึงเห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์จึงหันมาใช้วิธีให้พรรคพวกไปตั้งพรรคการเมือง และระดมดูดพรรคการเมืองเข้าไปเพื่อจะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ตั้งแต่รอบแรก แต่วิธีก็ยังยากอยู่ดี เพราะยังต้องอาศัย 126 คนในรอบแรก และขั้นตอนต่อไปก็ยังต้องการอีกไม่น้อยกว่า 125 คน ดังนั้น รวมหมดต้องไม่ต่ำกว่า 250 หรือ 300 คนด้วยซ้ำ เพื่อจะบริหารงานได้ แต่จนถึงวันนี้จำนวนส.สงก็ไม่รู้อยู่ไหน และมีเท่าไหร่ พรรคการเมืองที่ประกาศจะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ที่เป็นพรรคเดิมก็ยังไม่มีใครกล้าประกาศ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์น่าจะอยู่ในที่นั่งลำบากพอสมควร คือยังไม่เห็นช่องทางของความเป็นไปได้ที่จะเป็นนายกฯโดยการไปอยู่ในบัญชีรายชื่อ 1 ใน 3 ของพรรคการเมือง อันนี้อาจจะทำให้พล.อ.ประยุทธ์หัวเสียอยู่บ่อยๆ และพูดอะไรที่แสดงถึงความไม่มั่นใจในสถานะของตัวเองอยู่บ่อยๆในช่วงหลัง

ทั้งนี้ เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ออกมาพูดว่าจะไม่ลงเลือกตั้งต้องถามว่า ถ้าหมายถึงการไม่ลงสมัครส.ส. อันนี้ก็เป็นที่เข้าใจอยู่แล้ว เพราะไม่ว่ายังไงพล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ลงสมัครส.ส.แน่ แต่ถ้าหมายถึงจะไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อ 1 ใน 3 คน ที่พรรคการเมืองเสนอหรือเปล่า ถ้าพูดในวันนี้ก็คงหมายถึงประเด็นหลังนี้ แต่ถ้าไม่อยู่ในบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ การจะมาเป็นนายกฯได้ก็ต้องมาจากคนนอก ซึ่งหมายถึงจะมาในรอบ 2 ซึ่งการจะเป็นแบบนั้นได้ก็ต้องอาศัยวิธีการที่ซับซ้อนมากขึ้น และอาจจะต้องใช้อำนาจ หรือแสดงอิทธิฤทธิ์อะไรมากขึ้น คือต้องทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถตั้งรัฐบาลกันเองได้ หลังจากนั้นต้องบีบให้พรรคการเมืองและนักการเมืองต้องยอมให้มีการสนับสนุนเพื่อลงมติในรอบ 2 เพื่อเลือกคนนอกเป็นนายกฯ นั่นหมายถึงจะต้องสร้างเงื่อนไขว่า หากไม่ยอมสนับสนุนก็จะยุบสภา ทำให้นักการเมืองต้องไปเลือกตั้งกันใหม่ หรือว่าต้องมีเงื่อนไขมาต่อรองผลประโยชน์อะไรต่างๆอีกมาก ส่วนวิธีที่จะทำแบบตรงไปตรงมา และสง่างามนั้นไม่มี

นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า หากบอกว่าจะมายังไงต้องติดตามกัน ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญก็หนีไม่พ้นวิธีที่ไม่น่าดูทั้งหลาย แต่การมาออกตัวตั้งแต่วันนี้ อย่างนี้ ก่อนเดือนกันยายนที่ประกาศไว้ว่าจะเอาอย่างไรกับทางการเมืองต่อไปนั้น ก็เป็นเรื่องน่าสนใจว่า จะเกิดจากการเห็นปัญหา หรือประสบปัญหาทางการเมืองจนเห็นว่าเดินทางที่ให้ตั้งพรรคการเมืองมาสนับสนุนตนเองก็ไม่ง่ายก็เป็นไปได้ แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความเปลี่ยงแปลง หรือพัฒนาการทางการเมืองที่เป็นไปค่อนข้างรวดเร็ว พอตั้งธงว่าจะเป็นนายกฯคนนอกให้ได้ และพยายามใช้วิธีต่างๆที่ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ทำให้ความเสื่อมมาถึงเร็วขึ้น เพราะฉะนั้น กว่าเราจะรู้ว่าพล.อ.ประยุทธ์จะทำอย่างไรต่อไป จะมาเป็นนายกฯด้วยวิธีไหนกันแน่ พล.อ.ประยุทธ์ก็อาจจะเสื่อมมากกว่านี้ก็ได้ หรือคนอาจจะพอใจที่พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯและหัวหน้าคสช.เพื่อแลกกับความสงบในบ้านเมือง แต่เขาต้องการให้บ้านเมืองสงบ และเป็นประชาธิปไตย และต้องการนายกฯที่มาจากประชาชนเป็นคำตอบสุดท้าย หรือคนอาจจะไม่ต้องการพล.อ.ประยุทธ์เลยก็ได้ เวลานี้ไม่มีใครรู้ และถ้าอยู่ไปแบบนี้ วันข้างหน้า โจทก์ทางการเมืองก็อาจจะเปลี่ยนก็ได้

เมื่อถามถึงกรณีกกต.ชุดใหม่เข้าทำหน้าที่ มีอะไรที่จะฝากเป็นการบ้านให้กกต.ชุดใหม่บ้าง ว่า กกต.ควรวางตัวเป็นกลางให้มากที่สุด ไม่ทำอะไรภายใต้อานัติของคสช. และรัฐบาล นอกจากนี้ เรื่องเร่งด่วนเลยก็คือ กกต.ควรใช้สติปัญญา ความรู้ และข้อมูล เสนอปัญหาเกี่ยวกับการทำตามกฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายเกี่ยวกับกกต.เอง รวมทั้งวิเคราะห์กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหลาย และรวบรวมปัญาต่างๆที่ควรได้รับการแก้ไขโดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากการใช้คำสั่งของคสช. มาทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น และเสนอให้คสช.กับรัฐบาลแก้ไขเสียให้ถูกต้อง กกต.ควรทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมปัญหาจากพรรคการเมือง และนักการเมือง แล้วใช้การวิเคราะห์ของตนเองให้เป็นประโยชน์ ในการที่จะทำให้คสช.เปลี่ยนความคิดที่มุ่งทำลายขัดขวางพรรคการเมือง และให้ระบบรัฐสภา และระบบพรรคการเมืองเดินไปได้ตามที่มันควรจะเป็น