“วิทยา”ร้องผู้ตรวจฯ ชี้ประกาศสำนักนายกฯแต่งตั้งตร. ขัดรธน. ซัดมีคนแอบหมกเม็ดชงครม.

“วิทยา” จี้ผู้ตรวจฯ พิจารณาประกาศสำนักนายกฯแต่งตั้งตร. ชี้ ขัดรธน. เชื่อไม่สามารถปฏิรูปวงการตำรวจได้จริง

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายวิทยา แก้วภราดัย และนายราเมศ รัตนะเชวง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องหลักเกณฑ์การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจตามหลักอาวุโส ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 61 ว่าเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 258 และมาตรา 260 หรือไม่

โดยนายวิทยา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญทั้งสองมาตราดังกล่าวได้บัญญัติกระบวนการของการปฏิรูปตำรวจว่าให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1ปี แต่ถ้าไม่แล้วเสร็จให้การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจเป็นการไปตามหลักอาวุโส ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดและประกาศราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเมื่อครบเวลา 1 ปีพบว่าการปฏิรูปยังไม่แล้วเสร็จทำให้ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการ รองผู้บัญชาการ นอนฝันว่า ตนเองจะได้เลื่อนขั้น แต่แล้วก็ฟ้าผ่าเมื่อรัฐบาลมีการออกประกาศดังกล่าวโดยวางหลักเกณฑ์เพิ่มเติมการพิจารณาความอาวุโสไว้เพียงว่า หากใครดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปีก็ถือว่ามีอาวุโส ที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น

“ประกาศสำนักนายกฉบับนี้เหมือนฟ้าผ่ากลางกบาลตำรวจเป็นรองผู้บัญชาการปีเดียวก็อาวุโสเท่ากับคนที่ครองตำแหน่งเดียวกันมาแล้ว 7 ปี ผมเห็นว่าเรื่องนี้มีการหมกเม็ดเข้าครม.โดยที่นายกฯอาจไม่รู้ แต่ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินติงไป ท่านนายกก็จะได้ทราบว่าใครเป็นแอบหมกเม็ดเข้าไป วันนี้การปฏิรูปตำรวจเริ่มต้นช้ามา แทบไม่เห็นผลเลย หากรัฐบาลที่มีอำนาจเข้มแข็งอย่างรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่สามารถทำได้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คนร้อยพ่อพันแม่จะทำได้อย่างไรคงหยุดการปฏิรูปตำรวจแน่ แล้วนี่ปฏิรูปมา 1 ปียังไม่เสร็จ ก็ไม่ต้องไปหวังการปฏิรูปด้านอื่น ๆ ผมถือว่า5 ปีที่อยู่มาเป็นการทำลายโอกาสของรัฐบาล รวมทั้งยังเป็นลูบหน้าอาจารย์มีชัยที่เป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ และเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจด้วย”

ด้านนายรักษเกชา กล่าวว่า จะเร่งเสนอเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณา และการพิจารณาคงไม่ช้า เพราะตามกฎหมายผู้ตรวจการแผ่นดินกำหนดไว้แล้วว่าถ้าหากเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองวินิจฉัยให้ดำเนินการภายใน 60 วันนับแต่ได้รับคำร้อง