ศาลยกฟ้องคดีนายกเทศบาลหัวหินถูกร้องยกเลิกคำสั่งรื้อถอนอาคารรุกหาดหัวหิน

วันที่ 15 สิงหาคม พ.จ.อ.เรืองเดช สิทธิชัย นิติกรเทศบาลเมืองหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวความคืบหน้าจากการใช้คำสั่งตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 รื้อถอนอาคาร 32 หลัง ที่บุกรุกชายหาดหัวหิน ความยาวกว่า 400 เมตร บริเวณริมถนนนเรศดำริห์ ตั้งแต่ศาลเจ้าแม่ทับทิมถึงสะพานปลาหัวหิน ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ประชาชนใช้ร่วมกัน และมีปัญหายืดเยื้อจาการบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่ปี 2545 ต่อมา ปี 2560 ผู้บุกรุกบางส่วนยื่นคำร้องถึงศาลปกครอง จ.เพชรบุรี เพื่อขอให้เทศบาลเพิกถอนคำสั่งห้ามใช้ หรือ ยินยอมให้ผู้ใดใช้อาคารและคำสั่งให้รื้อถอนอาคารบริเวณชายหาดหัวหิน ว่า ล่าสุดศาลปกครองมีคำพิพากษาแล้ว 5 คดีโดยให้เทศบาลหัวหินชนะคดี และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ จากนั้นในวันที่ 22- 24 สิงหาคมนี้ ศาลปกครองเพชรบุรี นัดฟังคำพิพากษากรณีดังกล่าวอีก 21 คดี สำหรับคดีนี้ผู้ร้องสามารถยื่นอุทธรณ์ถึงศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองเพชรบุรีได้เผยแพร่ข้อมูลคำพิพากษาคดีดังกล่าว คดีหมายเลขดำที่ 35/2560 หมายเลขแดงที่ 75/2561 ระหว่าง นางสาวศิริรักษ์ ปั่มแม่นปืน หนึ่งในผู้ประกอบการที่รุกล้ำชายหาดหัวหิน ผู้ฟ้องคดี กับนายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน ผู้ถูกฟ้องคดี โดยคดีนี้ผู้ฟ้องคดีระบุว่าได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน ผู้ถูกฟ้องคดี ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น กล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีทำการก่อสร้างอาคารพิพาทเลขที่ 31/4 ถนนนเรศดำริห์ ตำบลหัวหิน อ.หัวหิน จ. ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนชาวประมงหัวหินบริเวณสะพานปลาจนถึงศาลเจ้าแม่ทับทิมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น

ต่อมานายกเทศมนตรีเมืองหัวหินได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาอาคาร พ.ศ.2522 โดยมีคำสั่งที่ ปข 52105.2/5787 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2559 ห้ามผู้ถูกฟ้องคดีใช้หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารพิพาท และคำสั่งที่ ปข 52105.2/5788 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2559 ให้รื้อถอนอาคารพิพาททั้งหมด แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยอ้างว่าตนเองครอบครองอาคารดังกล่าวสืบต่อจากพรรพบุรุษมานานกว่า 190 ปี และที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีเอกสารหลักฐานทางราชการฉบับใดแสดงว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือเป็นที่ดินของรัฐประเภทใด

คำพิพากษา ระบุว่า ที่ผ่านมาสำนักงานที่ดินจังหวัดฯ ได้มีการรังวัดตรวจสอบพบว่าบริเวณพื้นที่ชายหาดหัวหินตั้งแต่สะพานปลาจนถึงศาลเจ้าแม่ทับทิมได้มีการก่อสร้างอาคารจำนวนมากอยู่บนที่ดินหาดทรายชายทะเลโดยมีลักษณะทอดยาวรุกล้ำลงไปในทะเลซึ่งรวมถึงตำแหน่งที่ตั้งของอาคารพิพาทนี้ด้วย ศาลจึงพิเคราะห์แล้วเห็นว่าที่ตั้งของอาคารพิพาทในคดีนี้เป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินแม้ภาครัฐจะไม่ได้มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงก็ตาม ส่วนกรณีที่นายกเทศมนตรีเมืองหัวหินในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น บังคับใช้อำนาจตามพระราขบัญญัติควบคุมอาอาคาร พ.ศ.2522 ให้รื้อถอนอาคารพิพาทถือเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เ พราะเล็งเห็นถึงความไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง และการอำนวยความสะดวกการจราจร ดังนั้นศาลจึงมีคำพิพากษายกฟ้อง