รวมข่าวเศรษฐกิจ : พณ.ชี้เงินเฟ้อพุ่งลากยาวถึงสิ้นปี / สตง.สอบข้าวหาย ชี้ ก.ย.รู้ผล / คาด กนง.ขึ้นดอกเบี้ยปลายปี

แฟ้มข่าว

สศอ.เกาะติดเหตุคงดัชนีเอ็มพีไอ

นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนมิถุนายน 2561 เพิ่มขึ้น 4.74% อยู่ที่ 115.90 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 110.66 ขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเดือนที่ 14 ผลจากการส่งออกไปสหรัฐสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มีมูลค่า 2,487 ล้านเหรียญสหรัฐ อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสูงสุดรอบ 40 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมสูงสุดรอบ 42 เดือน อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 69.04% แต่จะยังไม่ปรับประมาณการใหม่ แม้ครึ่งปีแรกปีนี้ดัชนีเอ็มพีไอขยายตัว 3.9% แล้ว จะยังคงประมาณการทั้งปีขยายตัว 2.5-3% และจีดีพีภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 2-3% เพราะต้องติดตามปัจจัยบวกและลบในเดือนกรกฎาคม 2561 เนื่องจากเป็นช่วงที่เริ่มเทียบกับฐานของปีก่อนที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในช่วงนี้ที่ต้องติดตามสถานการณ์ว่าจะขยายพื้นที่ออกไปและยาวนานหรือไม่ อาจกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกผลผลิตการเกษตร

พณ.ชี้เงินเฟ้อพุ่งลากยาวถึงสิ้นปี

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) ทั่วไปเดือนกรกฎาคม 2561 เท่ากับ 102 เพิ่มขึ้น 1.46% เทียบเดือนกรกฎาคม 2560 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 แต่ลดลง 0.05% จากเดือนมิถุนายน 2561 สาเหตุจากการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องของหมวดพลังงานเป็นเดือนที่ 20 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 10.18% ขณะที่หมวดอาหารสดหดตัวต่อเนื่องเดือนที่ 2 หรือลบ 1.61% โดยเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักอาหารสดและพลังงาน) จะขยายตัว 0.79% ทำให้เงินเฟ้อทั่วไป 7 เดือนแรกปีนี้เพิ่มขึ้น 1.04% และเงินเฟ้อพื้นฐาน 7 เดือนแรกเพิ่มขึ้น 0.70% แนวโน้มราคาน้ำมันสูงทรงตัว และราคาสินค้าเพิ่มขยับขึ้น รวมถึงรายได้จากภาคเกษตรและส่งออกสูงขึ้น จะทำให้การบริโภคและกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อเงินเฟ้อครึ่งปีหลังสูงขึ้น โดยไตรมาส 3/2561 คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะสูงขึ้น 1.35% และไตรมาส 4/2561 สูงขึ้น 1.5% โดยทั้งปี 2561 กระทรวงพาณิชย์ยังคงประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 1.2% บนพื้นฐานจีดีพีโต 4.2-4.7% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 60-70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 32-34 บาท/เหรียญสหรัฐ ราคาเกษตรลบ 5-7% การบริโภคขยายตัว 3.7% และการส่งออกสูงกว่า 8%

“ศิริ” เร่งถกสรรหา “กกพ.” ใหม่

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำมันปาล์มดิบล้นตลาดและราคาตกต่ำ กระทรวงพลังงานมีแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ด้วยการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ บี20 โดยเตรียมหารือกับกระทรวงคมนาคมเพื่อขอให้สนับสนุนการใช้น้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ บี20 ในรถโดยสารสาธารณะ ทั้งรถเมล์ รถ บ.ข.ส. และรถไฟ จากปัจจุบันมียอดขายประมาณ 1 ล้านลิตร/เดือน

นายศิริยังกล่าวถึงปัญหาภายในคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่า ได้รับรายงานว่ามีกรรมการ 2 คนสมัครใจลาออกแล้ว แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นใคร นอกจากนี้ ยังมีนายไกรสีห์ กรรณสูต มีอายุครบ 70 ปี ต้องออกจากกรรมการด้วย เพราะเกษียณตามกฎหมาย ซึ่งตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำกับกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 เมื่อกรรมการลาออกแล้ว 3 คน ต้องสรรหาใหม่ ส่วนจะวิธีการใดกำลังหารืออยู่ เนื่องจากคณะกรรมการปัจจุบันถูกแต่งตั้งโดย ม.44 ซึ่งต้องดูว่าหากจะแต่งตั้งคนใหม่จะยึดกับกฎหมายใด แต่ยืนยันว่าจะดำเนินการโดยเร็วที่สุด

สตง.สอบข้าวหาย ชี้ ก.ย.รู้ผล

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยความคืบหน้ามติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) มอบหมายให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในฐานะหน่วยงานกลาง ทำการตรวจสอบและหาสาเหตุตัวเลขตามบัญชีสต๊อกข้าวรัฐ ระหว่างองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ในฐานะดูแลรักษาข้าวในสต๊อกของรัฐตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลที่ผ่านมา ได้รายงานตัวเลขทางบัญชี ณ วันที่ 2 กรกฎาคม 2557 มีปริมาณรวม 18.70 ล้านตัน แตกต่างจากตัวเลขผลการตรวจสอบด้านปริมาณของคณะตรวจสอบที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รายงานจำนวน 17.76 ล้านตัน มีส่วนต่างกันปริมาณ 0.94 ล้านตันว่า เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมาได้ส่งเรื่องให้ สตง. ตรวจสอบ โดย สตง. ได้หารือกับกรมเพื่อสอบถามข้อมูลและตรวจสอบ อคส. และ อ.ต.ก. แล้ว ภายในเดือนกันยายนนี้จะได้ผลสรุปข้าวสต๊อกรัฐหายจริงหรือเป็นความผิดพลาดทางตัวเลข จากนั้นจะเสนอให้ นบข. พิจารณาดำเนินการต่อไป

คาด กนง.ขึ้นดอกเบี้ยปลายปี

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าทีมวิจัย ลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การประชุม กนง. ครั้งนี้คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.50% โดยเป็นเสียงแตก แต่ต้องจับตาว่า จะมีเสียงแตกเพิ่มเพื่อส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ ซึ่งปัจจัยที่ กนง. ใช้ในการประเมินว่าจะถึงเวลาขึ้นอัตราดอกเบี้ย ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-4% อย่างมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างทั่วถึง เสถียรภาพของระบบการเงิน และการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย ซึ่งช่วงที่เหลือของปีจะต้องติดตามเรื่องการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) โดยไตรมาสแรกที่ผ่านมาขยายตัว 4.8% ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออาจจะต้องติดตามข้อมูลอีกระยะ ทำให้คาดว่าทั้งปี กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.50% และขึ้นดอกเบี้ยต้นปีหน้า

แต่หากจีดีพีขยายตัวต่อเนื่อง และเงินเฟ้อเข้ากรอบ อาจจะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยปลายปีนี้