รู้มั้ย! ‘ยากำจัดศัตรูพืช’ ร้ายกว่าที่คิด งานวิจัยชี้มีผลต่อพฤติกรรมทางเพศ

ตามที่กรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุขออกมาเปิดเผยว่า เตรียมหารือกับภาคประชาชนในการเคลื่อนไหวขอยกเลิกมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่เห็นชอบให้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิดใช้ต่อไปได้ คือ พาราควอต ไกลโฟเซตและคลอร์ไพริฟอส พร้อมทั้งหารือแนวทางฟ้องม.157 คณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ละเมิดข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการศึกษาและรวบรวมข้อมูลว่าสารเคมีเหล่านี้ห้ามใช้เพราะก่ออันตราย โดยให้จับตาการประชุมวันที่ 24 สิงหาคม ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงว่า จะออกมาในรูปแบบใด

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในฐานะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข  กล่าวว่า หลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีการตัดสินไม่แบนสารพิษทั้ง 3 ชนิดแล้ว ทางนายกฯ ก็ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง โดยตนเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ ซึ่งในความคิดเห็นส่วนตัวมองว่าที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลายชุดมากในการพิจารณาเรื่องนี้ เป็นเหมือนกรรมการซ้อนกรรมการทำให้การพิจารณายืดเยื้อออกไป อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 14 สิงหาคม คณะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข จะมีการประชุมกัน ตนจะเสนอให้มีการทำเรื่องเสนอผ่านนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  ว่าการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวเป็นการกระทำขัดมติ ขัดระเบียบ ของ 3 กระทรวงที่มีการยืนมติเดิมให้มีการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด

“ในวันพรุ่งนี้(14 ส.ค.)คณะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข จะมีการประชุมกัน ซึ่งในการปฏิรูประบบสาธารณสุข เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคนั้นชัดเจนในเรื่องของอาหารปลอดภัย ซึ่งอาหารปลอดภัยก็สอดคล้องกับการปลอดสารเคมี ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรยั่งยืน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่อยู่ในระหว่างร่างกฎหมาย แต่ก็กลุ่มบริษัทออกมายื่นหนังสือคัดค้าน ซึ่งหากมีสารเคมีแล้วอาหารไม่ปลอดภัย คณะกรรมการปฏิรูปฯต้องโดนม.157  แห่งประมวลกฎหมายอาญา คือการละเว้นหน้าที่ที่ควรทำด้วยหรือไม่”  ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์  กล่าวอีกว่า  สำหรับผลกระทบจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด นอกจากพาราควอตที่มีผลต่อสุขภาพประชาชนชัดเจนแล้วนั้น ยังพบว่าไกลโฟเซตมีกลไกทำปฏิกิริยากับโลหะหนัก ซึ่งสามารถสะสมในร่างกายและเข้าไปทำลายอวัยวะต่างๆในร่างกายได้ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ไกลโฟเซต จัดอยู่ในสารที่ก่อมะเร็ง ซึ่งข้อมูลของศรีลังกายังพบว่าส่งผลทำให้เกิดโรคไตวาย และพบได้ในเลือดเด็กแรกเกิดที่เกิดจากแม่ที่อาศัยในพื้นที่เกษตรกรรมมากกว่าแม่ที่ไม่ได้อาศัยในพื้นที่เกษตรกรรมถึง 49-54 %

“ข้อมูลไกลโฟเซตไม่ได้สลายได้ในดินทันที แต่สามารถกระจายไปในสิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำ และผักผลไม้ที่เรารับประทาน   ส่วนของคลอร์ไพริฟอส    นั้นในปี 2011 มีการศึกษาว่าเด็ก 7 ขวบหรือน้อยกว่ามีความผิดปกติทางด้านสติปัญญาจากการได้รับคลอร์ไพริฟอส เข้าสู่ร่างกาย และจากการทดลองในสัตว์ทดลองมีการตั้งข้อสังเกตว่าคลอร์ไพริฟอส จะไปรบกวนการแสดงออกทางด้านเพศ จากเพศหนึ่งไปอีกเพศหนึ่ง หรือมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางเพศ ซึ่งในเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจนจะต้องมีการศึกษาต่อไป” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว และว่า ไทยเสนอให้มีการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด   มีการยืนยันให้ห้ามใช้จาก 3 กระทรวง คือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายกลับมีการตัดสินให้มีการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดต่อไป โดยมีการจำกัดการใช้ ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดมาก