ร้อง ‘กก.วัตถุอันตราย’ ละเว้น ม. 157 หลังเมินข้อเสนอแบน ‘พาราควอต’ จ่อระดมผู้เสียหายฟ้อง!

ตามที่สำนักข่าวต่างประเทศเปิดเผย เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา คณะลูกขุนของศาลในนครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา สั่งให้มอนซานโต บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจการเกษตรจ่ายค่าชดเชย 289 ล้านดอลลาร์ให้กับอดีตผู้ดูแลสนามหญ้าของโรงเรียนที่กำลังจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง โดยระบุว่ายากำจัดวัชพืชของบริษัทเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง ขณะที่ประเทศไทยกลับอนุญาตให้ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในฐานะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข  ให้สัมภาษณ์กับ “มติชน” ว่า หลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย    มีมติเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ให้วัตถุอันตราย 3 รายการ ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต สามารถใช้ต่อไปได้   ซึ่งมติดังกล่าวถือเป็นการละเมิดม. 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา คือ การละเว้นหน้าที่ที่ควรทำ เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้รวบรวมข้อมูลวิชาการผลกระทบต่างๆเกี่ยวกับสารเคมีเหล่านี้    แต่สุดท้ายกลับไม่ได้รับความสนใจ และมีมติที่ไม่คำนึงถึงประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรไทยที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพจากสารเคมีเหล่านี้

“ข้อมูลชัดเจน อย่างหนองบัวลำภู มีคณะผู้วิจัยของสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) เป็นผู้ศึกษาและลงไปติดตาม  ซึ่งสถิติปัญหาของโรคเนื้อเน่านับตั้งแต่ปี 2557 ของโรงพยาบาลหนองบัวลำภู  มีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรคดังกล่าวประมาณปีละ 120 ราย โดยในปีล่าสุด 2560 พบว่าในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมามีผู้ป่วยด้วยโรคนี้ 102 ราย เสียชีวิตแล้ว 6 ราย ซึ่งคาดว่าน่าจะมีความสัมพันธ์กับสารเคมีทางการเกษตร และแม้หลายรายไม่เสียชีวิต แต่ต้องตัดแขนตัดขาก็มี  ซึ่งในต่างประเทศสนใจเรื่องนี้มากอย่างล่าสุด คณะลูกขุนของศาลในนครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา สั่งให้มอนซานโต บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจการเกษตรจ่ายค่าชดเชย 289 ล้านดอลลาร์ให้กับอดีตผู้ดูแลสนามหญ้าของโรงเรียนที่กำลังจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง โดยระบุว่ายากำจัดวัชพืชของบริษัทเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อก่อให้เกิดอันตรายขนาดนี้ แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแล้วจะดำเนินการอย่างไร ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า จากการหารือกับภาคประชาชน องค์กรต่างๆ รวมทั้งกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข ก็ล้วนมองว่า มติของกรรมการวัตถุอันตรายเข้าข่ายผิดม.157 คือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมติและข้อเสนอของทางกระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุชัดว่า สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเหล่านี้ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ แต่กลับมีมติดังกล่าว จึงจะมีการพิจารณาว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป เพราะถือว่าขัดต่อม.157 อย่างชัดเจน

“ เมื่อมีการต่อต้านขึ้น ทางพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดคล้ายๆทบทวนเรื่องนี้ ชื่อว่า คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมีตนเป็นหนึ่งในกรรมการ ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล ก็ต้องมาดูว่า ผลจะออกมาอย่างไร และหากสุดท้ายถูกเพิกเฉยอีก ทางนักวิชาการ ภาคประชาชนจะหารือกับญาติผู้เสียหายที่เสียชีวิต และผู้เสียหายที่ถูกตัดแขนขา  รวมทั้งผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบหมด” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา