กทม.ยอมถอย! ผ่อนผันถนนข้าวสาร ขายของบนทางเท้า ชี้อัตลักษณ์ท่องเที่ยว

วันที่ 10 สิงหาคม 2561 เมื่อเวลา 09.00 น. นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อหาข้อยุติสำหรับแนวทางการจัดระเบียบถนนข้าวสาร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายหลังยังไม่มีความชัดเจนถึงรูปแบบการจัดระเบียบถนนข้าวสารว่าจะให้ผู้ค้าบนทางเท้าลงมาทำการค้าบนผิวจราจร ระหว่างเวลา 18.00-24.00 น.นั้น ใช้เวลาประชุมเกือบ 3 ชั่วโมง

นายสกลธีกล่าวว่า ในที่ประชุมร่วมกันพิจารณาเงื่อนไข โดยมีความเห็นให้ผู้ค้าสามารถขายของบนทางเท้าได้อย่างถูกกฎหมาย เพราะถนนข้าวสารถือเป็นพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ เห็นร่วมกันให้ดำเนินการตามมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 กำหนดให้ กทม.สามารถพิจารณาจุดผ่อนผันในการซื้อขายหาบเร่แผงลอยได้ หลังจากนี้ กทม.จะร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การกำหนดจุดผ่อนผัน เพื่อให้จุดดังกล่าวสามารถค้าขายบนทางเท้าได้ ภายใต้เงื่อนไขการจัดระเบียบผู้ค้าตามบัญชีที่สำนักงานเขตพระนครเคยจัดทำไว้ ซึ่งมีผู้ค้าขึ้นบัญชีประมาณ 200 ราย ขณะเดียวกัน ให้สำนักงานเขตพระนครพิสูจน์ทราบผู้ค้าที่แท้จริง โดยกำหนดให้ 1 คน ต้องมีสิทธิในแผงค้า 1 แผงเท่านั้น เพื่อความเป็นธรรมของผู้ค้าในพื้นที่ พร้อมกำหนดขนาดแผงค้าต้องความกว้าง 1.50 x 1 ม. และเปิดการค้าช่วงเวลา 16.00-24.00 น.เท่านั้น โดยกทม.จะเร่งรัดร่างประกาศและบังคับใช้ไม่เกิน 1 เดือน ซึ่งประกาศดังกล่าวยังครอบคลุมไปยังถนนบริเวณโดยรอบ ได้แก่ ถนนจักรพงษ์ ถนนรามบุตรี ถนนไกรสีห์ และถนนสามสิบห้าง

“ระหว่างที่ยังไม่ประกาศร่าง กทม.ยังคงอนุโลมให้ผู้ค้าขายบนทางเท้าได้ ตามที่อนุโลมไว้ชั่วคราว ตั้งแต่เวลา 18.00-24.00 น. แต่จะให้สำนักงานเขตพระนครพิสูจน์ทราบผู้ค้า รวมถึงปรับขนาดแผงค้าตามกำหนดภายใน 10 วัน” นายสกลธีกล่าว

นายสกลธียังกล่าวถึงข้อกังวลหากกทม.อนุญาตให้ถนนข้าวสารเป็นจุดผ่อนผันจะอนุญาตจุดผ่อนผันอื่นที่ยกเลิกไปแล้วว่า การผ่อนผันขึ้นอยู่กับอัตลักษณ์ของถนน ซึ่งจุดที่ยกเลิกไปแล้วต่างจากถนนข้าวสาร ฉะนั้น จึงพิจารณาได้บางจุด โดยจะต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านการจราจรด้วย ส่วนจุดที่ยกเลิกไปแล้วไม่สามารถนำอ้างได้อีก หากในอนาคตมีการรวมตัวของกลุ่มผู้ค้าเพื่อให้ กทม.กำหนดเป็นจุดผ่อนผันเหมือนถนนข้าวสารเป็นสิทธิที่จะทำได้ แต่จะพิจารณาเป็นกรณีตามความเหมาะสมและการท่องเที่ยวของประเทศ