เผยข่าวดีระดับน้ำเขื่อนแก่งกระจานลดต่อเนื่อง อุตุฯฟันธงไม่มีพายุเข้าไทย14-16 ส.ค.

เลขาฯสทนช. เผย ระดับน้ำเขื่อนแก่งกระจานแนวโน้มลดต่อเนื่อง ด้านอธิบดีกรมอุตุ ฟันธง ไม่มีพายุเข้าไทย 14-16 ส.ค. ขอปชช.อย่าเชื่อข่าวลือ เตือนจ.แถบลุ่มเจ้าพระยา เฝ้าระวังระดับน้ำจากตอนเหนือ ช่วงก.ย.-ต.ค.

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายสมเกียรติ ประจำวงศ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตินิยมวิทยา และนายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.)ร่วมแถลงข่าวการบริหารจัดการแบบบูรณาการ แก้วิกฤตน้ำท่วมในห้วงฤดูฝน ปี 2561

นายทองเปลวกล่าวถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำล้นสปิลเวย์ที่เขื่อนแก่งกระจาน ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่ทางการเกษตรและชุมชน ทำให้ยังไม่ได้ข้อยุติว่าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมีขนาดเท่าใด ขณะที่นายสมเกียรติกล่าวว่า ตนได้รับข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศ ณ วันที่ 8 สิงหาคม เวลา 06.00 น. จากจิสด้า พบว่ามีบางพื้นที่ในพื้นที่ลุ่มต่ำได้รับผลกระทบ ประชาชนเดือดร้อนประมาณ 200 ครัวเรือน โดยขณะนี้สถานการณ์ที่เขื่อนแก่งกระจาน ปริมาณน้ำที่เอ่อล้นสปิลเวย์ได้ลดลงและมีแนวโน้มลดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ขึ้นอยู่กับปริมาณฝนที่อาจตกลงมาด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ แต่สถานการณ์นอกเขื่อนสามารถจัดการได้ เช่น อาศัยเขื่อนเพชรอัดน้ำเข้าสู่ระบบชลประทาน

เมื่อถามถึงกรณีอาจมีพายุเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงวันที่ 14-16 สิงหาคม นายวันชัยกล่าวว่า นับตั้งแต่วันนี้ไปอีก 1 สัปดาห์ จะไม่มีพายุลูกไหนเข้าสู่ประเทศไทย มีเพียงร่องมรสุมหรือร่องความกดอากาศต่ำที่พาดผ่านภาคอีสานเท่านั้น ดังนั้น ขออย่าเชื่อข่าวลือที่บอกว่าจะมีพายุเข้า ในช่วงเวลาดังกล่าว เพราะพายุที่อยู่ใกล้ประเทศไทยที่สุดขณะนี้อยู่บริเวณทะเลจีนใต้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นดีเปรสชันในอนาคต และจะเคลื่อนขึ้นสู่บริเวณเกาะไหหลำและมณฑลฝูเจี้ยนของสาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างไรก็ตาม จะมีผลทางอ้อมให้ร่องมรสุมขยับสูงขึ้นไป ทำให้ปริมาณฝนภาคอีสานลดลงในช่วงนั้นเป็นเวลาประมาณ 10 วัน แต่ฝนจะตกในประเทศจีน ลาวและประเทศเมียนมาร์ ดังนั้น จึงต้องเฝ้าระวังปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงด้วย

เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างร่องความกดอากาศ ร่องมรสุม และพายุ นายวันชัยกล่าวว่า พายุหมายถึงพายุหมุนเขตร้อน ซึ่งได้แก่ ดีเปรสชั่น โซนร้อน และไต้ฝุ่น ส่วนร่องมรสุมหมายถึงฝนตกประจำฤดู ขณะที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนลงมาทางใต้ ทำให้ร่องมรสุมเคลื่อนตามไป เช่น ในเดือนกันยายนร่องมรสุมจะพาดผ่านจากภาคกลางลงไปสู่ภาคใต้ในเดือนตุลาคม ส่วนลมมรสุมหมายถึงลมที่พัดประจำฤดู ปัจจุบันคือลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดจากทะเลอันดามันเข้ามา เนื่องจากทะเลอันดามันเป็นน้ำจึงพัดพาความชื้นมาด้วย ทำให้บริเวณที่เป็นด้านหน้าภูเขาซึ่งรับลมจะมีฝนตก เช่น เทือกเขาตะนาวศรีตามแนวพรมแดนไทย-เมียนมาร์ ส่งผลใหมีฝนตกในประเทศเมียนมาร์ รวมถึงบางส่วนในประเทศไทย เช่นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก หรือ จ.กาญจนบุรี ส่วนอีกลมมรสุมในช่วงปลายปีคือลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเป็นลมหนาวทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศแห้ง แต่ทำให้ภาคใต้ถึงซึ่งเป็นด้านที่รับลมจากอ่าวไทยเป็นช่วงฤดูฝน กล่าวโดยสรุปคือ มรสุมจะทำให้ด้านที่รับลมมีฝนตก ส่วนร่องมรสุมทำให้มีฝนตกพรำพรำตลอดทั้งวันทั้งคืน แต่ถ้าพายุจะมีทั้งลม ฝนตกหนัก และความเสียหายตามรายทาง โดยฝนจากพายุนั้นจะตกเฉพาะจุดที่พายุเคลื่อนผ่าน

นายวันชัย กล่าวต่อว่า ส่วนร่องมรสุมที่จะมาถึงประเทศไทยในช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายนนั้น ส่งผลให้มีฝนตกพรำๆแต่จะตกต่อเนื่อง ทำให้เกิดการสะสมของน้ำบริเวณที่สูงและที่ราบเชิงเขา อาจทำให้เกิดน้ำป่าหรือน้ำท่วม โดยจะเริ่มต้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน และลงมาสู่ภาคกลางประมาณกลางเดือนกันยายนก่อนลงสู่ภาคใต้ในเดือนตุลาคม ซึ่งเรื่องนี้มีผลสำคัญทำให้เราต้องเตือนเกี่ยวกับระดับน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะเมื่อฝนเริ่มตกในภาคเหนือ ปริมาณน้ำเหล่านั้นจะไหลลงสู่แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ก่อนรวมกันที่แม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้น จังหวัดในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจึงต้องระมัดระวังในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม เช่น จ.พิษณุโลก จ.สุโขทัย จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ปทุมธานี เป็นต้น แต่เมื่อผ่านช่วงดังกล่าวไป ปริมาณน้ำจะเริ่มนิ่งและลดลง