ผู้ต้องหากลุ่มวีวอล์ก ยื่นผู้ตรวจฯส่งศาลรธน.วินิจฉัยคำสั่งคสช. ขัดรธน.

ผู้ต้องหากลุ่มวีวอล์ก ยื่นผู้ตรวจการฯ ส่งศาลรธน. วินิจฉัย คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ต้องหา 8 รายในคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ข้อ 12 จากกรณีการเข้าร่วมกิจกรรม “We walk เดิน…มิตรภาพ” ของเครือข่าย People Go Network เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายสงัด ปัถวี รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้พิจารณาและเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามการมั่วสุมชุมนุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไป มีข้อความหรือเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ว่าด้วยการตรากฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและมาตรา 44 ที่รับรองเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ หรือไม่ เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวเป็นเหตุให้ถูกละเมิดเสรีภาพในการชุมนุมที่รัฐธรรมนูญรับรอง และขัดต่อข้อ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี เพราะเป็นคำสั่งที่มีผลแทรกแซงหรือจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ มีเนื้อหาที่ไม่มีความชัดเจนแน่นอน จนถูกนำมาตีความบังคับใช้เพื่อปิดกั้นเสรีภาพการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวางคลุมเครือ ขัดต่อหลักนิติธรรม โดยขณะนี้มีประชาชนกว่าสี่ร้อยรายถูกฟ้องจากคำสั่งนี้ อีกทั้งคำสั่งดังกล่าวยังมีโทษรุนแรงสูงสุดคือจำคุกไม่เกินหกเดือน และเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติการเพื่อยุติการชุมนุมได้ทันที ในขณะที่กรณีการฝ่าฝืนไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 กำหนดโทษทางอาญาไว้เพียงแค่ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทเท่านั้น และยังกำหนดมาตรการขั้นตอนให้ศาลมีอำนาจในการถ่วงดุลตรวจสอบก่อนการสั่งยกเลิกการชุมนุมด้วย โดยหวังว่าผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเป็นที่พึ่งของประชาชนจะส่งต่อเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยไม่ดูเฉพาะแค่ตัวอักษรแต่ดูถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงด้วย

นอกจากนี้ยังขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอแนะให้หัวหน้า คสช.ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 และให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องระงับการบังคับใช้คำสั่งดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างที่มีการทบทวนยกเลิกคำสั่งนั้นและปฏิบัติให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่และอำนาจเสนอเรื่องปัญหาความไม่ชอบ ด้วยรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และมีหน้าที่เสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายหรือขั้นตอนการปฏิบัติใดๆ บรรดาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนหรือเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ

ในส่วนของคดีอาญาที่มีการฟ้องกลุ่มวีวอล์ก 8 คนนั้น ทางแกนนำแจ้งว่า ทางอธิบดีอัยการภาคมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง แต่ต้องดูว่าตำรวจจะยืนยันหรือไม่ อย่างไรก็ตามแม้การดำเนินคดีกับกลุ่มวีวอล์กอาจจบแต่การชุมนุมยังถูกปิดกั้นด้วยคำสั่งนี้ จึงควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และยกเลิกคำสั่งนี้ เนื่องจากทางกลุ่มเห็นว่าประชาชนควรอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญมากกว่าอยู่ภายใต้คำสั่ง คสช.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มคนอยากเลือกตั้งนำโดย น.ส.ณัฎฐา มหัทธนา หรือโบว์ เคยยื่นคำร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และผู้ตรวจการแผ่นดินเคยมีมติยุติเรื่อง เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวได้รับการรับรองโดยมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้ประกาศ คำสั่ง การกระทำของหัวหน้า คสช.ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญหรือที่ออกใช้บังคับต่อไปตามมาตรา 265 วรรคสอง ไม่ว่าจะเป็นประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำที่มีผลใช้บังคับในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหารหรือทางตุลาการ มีผลบังคับใช้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญต่อไป

ด้านนายสงัดกล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่ดูแลเรื่องสิทธิของประชาชน ทั้งนี้จะนำเสนอคำร้องนี้ต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ต้องดูด้วยว่าเป็นประเด็นซ้ำหรือไม่ โดยอยู่ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัย ซึ่งน่าจะไม่เกินหนึ่งเดือน ทั้งนี้แม้ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินเคยวินิจฉัยคำสั่งดังกล่าวจากคำร้องของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งไปแล้วครั้งหนึ่งว่าให้ยุติเรื่อง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นบรรทัดฐานในกรณีนี้ เนื่องจากประเด็นความเดือดร้อนต่างกัน ซึ่งแม้ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินจะเห็นว่ากฎหมายมีความสำคัญแต่ความเดือดร้อนของประชาชนสำคัญกว่า