ชป.ขอประชาชนมั่นใจ ยังคุมสถานการณ์น้ำได้อย่างมีเสถียรภาพ

จากกรณีที่นักวิชาการและประชาชนได้แสดงความกังวลและห่วงใยสถานการณ์น้ำในเขื่อนทั่วประเทศ อันเนื่องมาจากปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นจากสภาวะฝนตกต่อเนื่องทั่วประเทศในช่วงนี้ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต่างเข้ามาให้การช่วยเหลือและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในเขตพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ

กรมชลประทาน(ชป.) ในฐานะหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการบริหารจัดการน้ำ และหนึ่งในเจ็ดแนวทางการปฏิบัติงานและยุทธศาสตร์กรมชลประทาน คือการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ โดย “ดร.ทองเปลว กองจันทร์” อธิบดีกรมชลประทาน ออกมาเปิดเผยพร้อมย้ำให้ประชาชนเชื่อมั่นในมาตรการรับมือสถานการณ์น้ำ และการระบายน้ำ ซึ่งได้เตรียมการไว้อย่างดีในทุกพื้นที่แล้ว

**ย้ำเขื่อนขนาดกลาง-ใหญ่ ทุกแห่งยังแข็งแรง

หลายข้อกังวลของประชาชนในด้านความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อน (Dam Safety) ดร.ทองเปลว อธิบายเพื่อให้ความเชื่อมั่นการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนว่า กรมชลประทานได้ทำการประเมินตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อน ทุกแห่งทั่วประเทศ โดยในเขื่อนขนาดใหญ่จะทำการติดตั้งเครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อน (Dam Instrumentation) ประกอบกับการตรวจสอบสภาพด้วยสายตา สำหรับติดตามตรวจสอบพฤติกรรม เช่น การไหลซึมของน้ำผ่านตัวเขื่อน การทรุดตัวในแนวดิ่ง และการเคลื่อนตัวในแนวราบ เป็นต้น โดยจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุก 30 วัน เพื่อให้เขื่อนมีความมั่นคงปลอดภัย พร้อมใช้งานอย่างเต็มศักยภาพ แต่หากเกิดวิกฤติจะทำการตรวจสอบทันที ตามมาตรฐานความปลอดภัยเขื่อน

“ในเบื้องต้นจากการประเมินเขื่อนทั่วประเทศพบว่า เขื่อนทุกแห่งยังมีความแข็งแรง ความปลอดภัย พร้อมที่จะใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ ขณะที่เขื่อนขนาดกลางได้เฝ้าระวังและตรวจสอบอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีปริมาณน้ำมากกว่า 80% ของความจุ ก็จะทยอยระบายน้ำเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ ส่วนอาคารชลประทาน และอาคารประกอบต่างๆ ได้มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องเป็นประจำตามแผนงานปกติ เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ

สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) กรมชลประทานได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เข้าไปให้คำปรึกษา แนะนำการบำรุงดูแลรักษา และตรวจสอบความปลอดภัยเขื่อน รวมทั้งแนะแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับขนาดและพื้นที่รับประโยชน์ของอ่างเก็บน้ำ” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

**อ่างเก็บน้ำยังสามารถรับน้ำได้อีก 23 ลบ.ม.

ภาพรวมของน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศขณะนี้ อธิบดีกรมชลประทาน ให้ข้อมูลว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศจำนวน 35 แห่ง ซึ่งอยู่ในการดูของกรมชลประทาน 25 แห่ง และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ควบคุมดูแลอีก 10 แห่ง ทั้งหมดมีปริมาตรน้ำรวมกันประมาณ 48,908 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือร้อยละ 69 ของความจุอ่างฯ รวมกัน ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอีก 412 แห่ง มีปริมาตรน้ำรวมกันประมาณ 3,183 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาตรน้ำทั้งหมดทั้งอ่างฯ ขนาดใหญ่และขนาดกลางรวมกันประมาณ 52,019 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 68 ของความจุอ่างฯ รวมกัน ยังสามารถรับน้ำได้อีกกว่า 23,900 ล้าน ลบ.ม.

ดร.ทองเปลว กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน ได้ดำเนินการควบคุมการเก็บกัก การระบายภายใต้โค้งปฏิบัติการของอ่างเก็บน้ำ หรือ เกณฑ์เก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) ซึ่งในการควบคุมปริมาตรน้ำจะใช้เส้นบนของโค้งปฏิบัติการของอ่างเก็บน้ำเป็นตัวควบคุม

“ในกรณีที่อ่างเก็บน้ำบางแห่งมีปริมาตรน้ำเกินกว่าเส้นควบคุม กรมชลประทานจะเร่งระบายน้ำให้กลับมาอยู่ที่เส้นควบคุม โดยพิจารณาจากข้อมูลปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำ การระบายน้ำและข้อมูลการคาดการณ์ปริมาณฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยา

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กรมชลประทานคำนึงถึงมากที่สุดคือความสามารถในการรับน้ำในพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนที่ระบายน้ำออกไปด้วย ว่าจะต้องไม่สร้างผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนที่อยู่ในแนวทางน้ำหรือลำน้ำ หากพิจารณาแล้วพบว่าสุดวิสัยคือมีผลกระทบในด้านใดด้านหนึ่ง กรมชลประทานจะทำการแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ด้านท้ายน้ำ ให้ติดตามสถานการณ์และเตรียมการขนย้ายสิ่งของต่อไป”

**สั่งเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำภาคอีสาน

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภาคอีสานจากระดับแม่น้ำโขงสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมชลประทานได้เตรียมการและมีการระบายน้ำไว้ก่อนล่วงหน้า รวมทั้งหาทางป้องกัน และแก้ไขปัญหาจากฝนตกหนักไว้แล้ว โดยเริ่มระบายน้ำจากเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ อย่างระมัดระวังไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน ขณะที่ เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ก็เร่งระบายน้ำเสริมด้วยการใช้กาลักน้ำเพิ่มเติม

ซึ่ง ดร.ทองเปลว เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนน้ำอูนล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ส.ค. พบว่า เขื่อนน้ำอูนมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 525 ล้าน ลบ.ม. (ปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ที่ 520 ล้าน ลบ.ม.) มีน้ำล้นทางระบายน้ำล้นฉุกเฉิน(Service Spillway) ประมาณ 6 เซนติเมตร หรือคิดเป็นปริมาณน้ำล้น 1.22 ล้าน ลบ.ม./วัน

“โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูน ได้เร่งระบายน้ำผ่านทางระบบชลประทาน พร้อมติดตั้งกาลักน้ำช่วยในการระบายน้ำ จำนวน 10 ชุด สามารถระบายน้ำได้รวมกันทั้งสิ้น 3.60 ล้าน ลบ.ม./วัน เพื่อควบคุมปริมาณน้ำในอ่างฯ ให้ลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ควบคุม ทั้งนี้ ผมได้สั่งการให้สำนักเครื่องจักรกล ดำเนินการติดตั้งกาลักน้ำเพิ่มเติมอีกจำนวน 15 ชุด ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำเป็น 600,000 ลบ.ม./วัน ซึ่งจะสามารถระบายน้ำได้ 4.15 ล้าน ลบ.ม./วัน ทำให้การควบคุมปริมาณน้ำในอ่างฯ อยู่ในเกณฑ์ได้เร็วขึ้น”

ภาพรวมของการระบายน้ำจากอ่างฯ ในเขื่อนน้ำอูน เบื้องต้นพบว่ายังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ  เนื่องจากปริมาณน้ำที่ระบายทั้งหมดจะไหลลงสู่ลำน้ำอูน และลำน้ำสงคราม ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง บริเวณ อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ตามลำดับ

เนื่องจากขณะนี้ยังไม่สิ้นสุดฤดูฝน จึงมีความจำเป็นต้องเตรียมพื้นที่ไว้รองรับปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าอ่างฯ มากขึ้นในระยะต่อไป ซึ่ง อธิบดีกรมชลประทานได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในลำน้ำสงครามอย่างใกล้ชิด พร้อมประสานให้ผู้ว่าราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดสกลนคร บึงกาฬ นครพนม เพื่อรายงานสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

**ล้อมกรอบ**

เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ ตลอดจนการคาดการณ์และประเมินผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น กรมชลประทาน แนะนำให้ติดตามจากข้อมูลประชาสัมพันธ์ ซึ่งชป.มีศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ที่คอยติดตามข้อมูล ตรวจสอบและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำที่อัพเดทที่สุด

  • เผยแพร่ผ่านเว็บไซด์ http://wmsc.rid.go.th/
  • อัพเดทผ่านสื่อออนไลน์ เฟซบุ้ก แฟนเพจ (Facebook :ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ) ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสด(Live) รายงานสถานการณ์น้ำ เวลาประมาณ 07.00 น.ของทุกวัน
  • ติดตามข่าวสารสถานการณ์น้ำผ่านทาง เฟซบุ้ก (แฟนเพจ : เรารักชลประทาน)
  • กรมชลประทานเปิดสายด่วน สอบถามสถานการณ์น้ำ ได้ที่ 1460 ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ หรือ SWOC ได้ตลอด 24 ชม.