เปิดกติกาใช้ “โดรน” บินอย่างไรให้ถูกกฎหมาย

อากาศยานไร้คนขับ หรือ “drone” โดรน ในปัจจุบันได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยสถานะที่เป็นทั้งของเล่น ทั้งอุปกรณ์ทำงาน เมื่อเร็ว ๆ นี้ กองทัพอากาศ จัดงานเสวนา “DRONE/UAV ในห้วงอากาศ ความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยด้านการบิน” โดยมีตัวแทนจากกองทัพอากาศ, กสทช., กพท. และภาคเอกชน ชี้แจงข้อบังคับการใช้โดรนในปัจจุบันใช้ผิดทางสร้างโทษมหาศาล

พล.อ.ต.ธนศักดิ์ เมตะนันท์ รองเจ้ากรมยุทธการทหารอากาศ กล่าวว่า โดรนเกิดขึ้นจากทหารและค่อยมาสู่ประชาชน ดังนั้นถ้ามีการนำมาดัดแปลงติดอาวุธหรือนำมาใช้ในการหาข่าว ค้นหา สอดแนม จะกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล จึงจำเป็นต้องควบคุม คือบินได้แต่ต้องทำตามกฎหมาย

“โดรนมีข้อดี ถ้าใช้ตามกติกา แต่ถ้าผิดกติกาก็จะเกิดความเสียหาย ซึ่งกองทัพอากาศเองมีหน่วยงานที่ใช้งานโดรน พัฒนา และหน่วยต่อต้านโดรน ซึ่งกองทัพอากาศก็ไม่ได้รับข้อยกเว้น”

ลงทะเบียนอย่างไรให้ถูกต้อง

นายสมศักดิ์ สิริพัฒนากุล ผู้อำนวยการสำนักการอนุญาตและกำกับเครื่องวิทยุคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การลงทะเบียนโดรนในปัจจุบันมี 2 กรณี 1.ขึ้นทะเบียนโดรนโดย กสทช. 2.ขึ้นทะเบียนผู้ควบคุมโดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)

สำหรับ “ผู้ครอบครองโดรน” ลงทะเบียนได้ที่สำนักงาน กสทช. ที่มีสำนักงานภาคหรือเขตทั่วประเทศ โดยใช้ 1.บัตรประชาชนตัวจริง 2.ซีเรียลนัมเบอร์โดรน 3.ภาพถ่ายของจริง

“โดรนที่ไม่มีกล้องและน้ำหนักไม่ถึง 2 กิโลกรัม ไม่ต้องลงทะเบียน แต่ถ้ามีกล้องหรือน้ำหนัก 2 – 25 กิโลกรัม ต้องขึ้นทะเบียนทุกกรณี และส่วนที่น้ำหนักมากกว่า 25 กิโลกรัม ต้องได้รับการอนุญาตจากรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม

“กรณีร้านค้า” ต้องเตรียม 1.บัตรประชาชนตัวจริง 2.บัญชีแสดงรายการโดรน 3.ภาพถ่ายโดรน

“สำหรับการลงทะเบียน “ผู้นำเข้า” ต้องยื่นเรื่องขอใบอนุญาตนำเข้ากับ กสทช. มีใบอนุญาตค้า และต้องส่งบัญชีว่านำเข้ามากี่เครื่อง ลิสต์บัญชีเครื่องทั้งหมดให้ กสทช. เพื่อรอจำหน่าย แต่กรณีที่ผู้ซื้อสั่งซื้อจากต่างประเทศ จะไม่สามารถรับลงทะเบียนได้ เพราะไม่มีการชำระภาษีที่ถูกต้อง แต่ กสทช.เปิดโอกาสให้คนลงทะเบียนได้ ส่วนหน่วยงานราชการก็จะมีข้อยกเว้นในการลงทะเบียน แต่ต้องส่งหนังสือแจ้งหน่วยงาน กสทช. รวมทั้งสเป็กและรุ่น ว่าผ่านมาตรฐานหรือไม่ ทั้งกำลังเตรียมระบบลงทะเบียนผ่านออนไลน์อยู่”

 

“ผู้ควบคุม” ต้องมีทะเบียน

ด้าน นายปรีดา ยังสุขสถาพร รองผู้อำนวยการ กพท. กล่าวว่า การลงทะเบียน “ผู้ควบคุม” ทำได้ที่สำนักงาน กทพ. และผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเตรียม 1.คำขอขึ้นทะเบียนของผู้บังคับโดรน 2.คำขอขึ้นทะเบียนโดรนของ กสทช. 3.สำเนาบัตรประชาชน 4.สำเนาทะเบียนบ้าน 5.ใบกรมธรรม์ของประกันภัยอุบัติเหตุของโดรน กรณีเป็น “นิติบุคคล” ต้องมีหนังสือรับรองนิติบุคคลอายุไม่เกิน 6 เดือน

“กฎหมายให้ตรวจประวัติอย่างละเอียด เช่น อายุที่ต้อง 18 ปีขึ้นไป ไม่มีคดี ไม่เป็นภัยคุกคาม มีประกันภัย ถ้าเอกสารพร้อมจะใช้เวลาราว 15 วัน”

 

กม.โดรนมีปัญหาทั่วโลก

นายประทีป สังข์เที้ยม ผู้อำนวยการส่วน สำนักการอนุญาตและกำกับวิทยุคมนาคม กสทช. กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายที่กำกับดูแลโดรนยังเป็นปัญหา ทั่วโลก ทั้งเทคโนโลยีเปลี่ยนไป โดรนส่วนใหญ่มีกล้องทั้งหมด ดังนั้นการลงทะเบียนจะทับซ้อนกัน อาจจะต้องแก้ไขส่วนนี้ และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหา เช่น ซอฟต์แวร์ที่ทำให้โดรนที่บินใกล้โซนห้ามบิน เครื่องจะบินไม่ได้

นอกจากนี้ “โดรนมือสอง” ยังเป็นปัญหา เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้ เหมือนกับกรณีซื้อของหนีภาษีหรือโดรนตามตลาด ที่ผ่านมาพยายามนำหมายเลขเครื่องไปสืบค้นข้อมูล เพื่อขอเอกสารจากเจ้าของแบรนด์ แต่ใช้เวลานาน ดังนั้นกรณีจะขายต่อ ผู้ขายต้องมายกเลิกเพื่อเปลี่ยนเจ้าของ โดยผู้ซื้อจะต้องนำเอกสารที่ต้องยกเลิกมาประกอบ

ส่วนกรณี “โดรนประดิษฐ์เอง” ลงทะเบียนไม่ได้ มีข้อจำกัดด้านกฎหมาย ต้องส่งเอกสารยื่นขอประกอบ เพื่อให้ได้คำอนุญาตในการประกอบและนำมาลงทะเบียนในแบรนด์ของตัวเอง

 

หลักสากล ต้องมี กม.อีกเยอะ

นายปรีดากล่าวว่า กพท.เข้าใจว่ากฎหมายมีข้อห้ามจำนวนมาก แต่จำเป็นต้องทำ เนื่องจากต้องดูแลความเรียบร้อย ไม่ให้เกิดผลกระทบตามมา และในอนาคตจะมีกฎหมายใหม่ ๆ จะออกมาอีกหลายฉบับ โดยจะยึดหลักสากล ดังนั้นจะทำตามความต้องการไม่ได้ ซึ่งความปลอดภัยและความมั่นคงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงสูงสุด ดังนั้นอาจจะมองคนละมุมกับผู้บริโภค

และกฎระเบียบที่ออกมาก็ไม่มีข้อยกเว้น ดังนั้นถ้าจะบินในเขตหวงห้ามหรือทำอะไรที่ขัดต่อกฎ ต้องมีการขออนุญาตก่อนทุกครั้งในส่วนของเขตห้ามบิน เขตห้ามบินสามารถดูในเว็บไซต์ www.caat.or.th แต่ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ความมั่นคงทางการทหาร พื้นที่พระราชฐานโรงพยาบาล เขตชุมชนที่ถูกประกาศไว้ และพื้นที่รัศมี 9 กิโลเมตรรอบสนามบินและสถานที่ราชการ แต่ถ้ามีความประสงค์ สามารถแจ้งเรื่องเพื่อขออนุญาตได้ แต่ต้องขอล่วงหน้านานแค่ไหนจะขึ้นอยู่กับพื้นที่ โดยต้องขอในพื้นที่นั้น ๆ ก่อน และค่อยมาขอกับ กพท.อีกที

“เราไม่ได้อยากจะควบคุมอย่างเดียว แต่เพราะการบินและเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อน แต่เราก็อยากส่งเสริม เรามีความคิดที่จะตั้งกองใหม่เพื่อมาสนับสนุนโดยเฉพาะ และเรามีการคุยกับจิสด้า เพื่อให้หาพิกัดในการส่งเสริมภาคการเกษตร”

 

แนะแยกประเภทเพื่อลงทะเบียน

นายธเนศ ดวงพัตรา บริษัท ไทยสกาย ดิจิทัล จำกัด ผู้ที่มีประสบการณ์ในการให้บริการถ่ายภาพทางอากาศมากว่า 40 ปี กล่าวว่า เห็นด้วยที่มีการควบคุม แต่กฎหมายต้องจำแนกประเภท ไม่เช่นนั้นจะกระทบกับผู้ที่นำโดรนไปประกอบอาชีพ เพราะโดรนมีทั้งสำหรับเล่น และโดรนสำหรับมืออาชีพ อีกทั้งยังมีโดรนขนาดใหญ่ที่ใช้ในด้านการเกษตร ดังนั้นจึงมองว่ายังมีช่องว่าง

นอกจากนี้กฎหมายต้องออกมาให้เร็วและทันสมัย เพราะกฎหมายบางอย่างถูกปรับใช้จากเครื่องบินใหญ่ เช่น เฮลิคอปเตอร์ที่ห้ามบินต่ำ แต่โดรนยิ่งบินต่ำยิ่งดี เพราะถ้าตกจะได้ไม่เป็นอันตราย นอกจากนี้อยากชื่นชมที่มีการเปิดให้ลงทะเบียนออนไลน์

“เราพร้อมจะปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ในรายละเอียดหรือวิธีปฏิบัติต่างหากไม่ใช่อิงมาจากเครื่องบินใหญ่ เพื่อให้เกิดการนำปฏิบัติจริงได้ เช่น แบ่งประเภทว่าใช้โดรนเพื่ออะไร เช่น การถ่ายภาพ การเกษตร เหมือนกับรถยนต์ที่มีป้ายทะเบียน รวมทั้งควรมีโรงเรียนหรือหลักสูตรฝึกอบรม เพื่อเป็นการการันตีในระดับหนึ่ง”

อย่างไรก็ตาม โดรนในไทยมีประมาณ 30,000 เครื่อง แต่ลงทะเบียน 6,000-10,000 เครื่อง แต่ที่มาลงทะเบียนเชื่อว่าส่วนใหญ่เป็นระดับมือโปร ซึ่งไม่ใช่ส่วนที่ทำให้เกิดปัญหา แต่เป็นโดรนของเล่นที่ขายทั่วไปที่มักสร้างปัญหา ดังนั้นควรหาทางจัดการกับส่วนนี้