คลังดันประกันภัยข้าวโพดปี’ 62 คุ้มครอง 1,480บาท/ไร่

คลังตั้งแท่นทำประกันภัยข้าวโพดตามรอยข้าวนาปี สมาคมประกันวินาศภัยฯเสนอความคุ้มครอง 1,480 บาท/ไร่ คาดเบี้ยถูกกว่ารับประกันภัยข้าว รอข้อมูลกระทรวงเกษตรฯมาใช้กำหนดอัตราเบี้ยประกันให้ชัดเจน คาดเริ่มรับประกันภัยได้ปีหน้า

นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ทางสมาคมประกันวินาศภัยได้เสนอแนวทางการทำประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่ง สศค.พร้อมสนับสนุนและผลักดันโครงการดังกล่าว เนื่องจากข้าวโพดเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์สำคัญที่ช่วยให้คุณภาพการเลี้ยงสัตว์ดีขึ้น และถือเป็นการช่วยสนับสนุนเกษตรกรไทยให้มีหลักประกันความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ รวมถึงจะเป็นการต่อยอดการทำประกันภัย ต่อจากการประกันภัยข้าวนาปีตามนโยบายของรัฐบาลด้วย

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ สศค.อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูล เพื่อศึกษาและรวมรวมข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับข้าวโพดทั้งหมด เพื่อใช้สนับสนุนให้กลุ่มธุรกิจประกันภัยนำข้อมูลดังกล่าวไปกำหนดอัตราเบี้ยประกัน ความคุ้มครอง และความเสี่ยงต่าง ๆ

“เราคาดว่าโครงการนี้จะตอบโจทย์แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดได้ระดับหนึ่ง และยังช่วยลดการบุกรุกทำลายป่า โดยเราจะรับประกันภัยข้าวโพดที่ปลูกในที่ดินที่ถูกกฎหมาย ซึ่งจะช่วยให้การปลูกข้าวโพดในพื้นที่ที่ผิดกฎหมายลดลง หลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเสร็จสิ้น ก็จะส่งต่อให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มผู้ปลูกข้าวโพดต่อไป” นายสุวิชญกล่าว

นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวกับ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางสมาคมได้นำเสนอแนวทางการทำประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ทาง สศค. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พิจารณา ซึ่งเป็นการดำเนินการในลักษณะเดียวกับการประกันภัยข้าวนาปี

อย่างไรก็ดี การประกันภัยข้าวโพดอาจจะคิดค่าเบี้ยที่ถูกกว่าและให้ความคุ้มครองที่สูงกว่าประกันภัยข้าว โดยความคุ้มครองนั้น ทางสมาคมประกันวินาศภัยไทยได้เสนอที่ 1,480 บาท/ไร่ ในขณะที่รัฐบาลจะเยียวยา 1,500 บาท/ไร่ ซึ่งมากกว่าข้าว เนื่องจากข้าวโพดเป็นพืชไร่ที่ปลูกค่อนข้างน้อย ทั่วประเทศปลูกไม่เกิน 8 ล้านไร่/ปี ขณะที่ข้าวปลูกมากถึง 55 ล้านไร่/ปี

นอกจากนี้ การประกันภัยจะครอบคลุมความเสี่ยงครบทั้งฤดูเพาะปลูกที่ 1 (ช่วงฤดูฝน) ระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ค. และในฤดูเพาะปลูกที่ 2 (ช่วงฤดูแล้ง) ระหว่างเดือน พ.ย.-ธ.ค. รวมทั้งกำหนดประเภทของภัยที่รับประกันเหมือนกับข้าว ครอบคลุม 6 ภัย ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก, ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง, ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น, ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง, ลูกเห็บ,ไฟไหม้ นอกจากนี้ ยังเพิ่มความคุ้มครองอีก 630 บาท/ไร่ สำหรับภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด

นายกี่เดชกล่าวอีกว่า ภาคธุรกิจประกันภัยมีการเตรียมพร้อมสำหรับรับประกันภัยข้าวโพด โดยมีการพูดคุยกับบริษัทที่เคยรับประกันภัยข้าวนาปีว่ามีบริษัทใดสนใจบ้าง ทั้งนี้ เพื่อเตรียมพร้อมไว้เพื่อขานรับนโยบายรัฐ หากมีการเห็นชอบเมื่อใด ธุรกิจประกันก็สามารถดำเนินการได้ทันที

นางคนึงนิจ สุจิตจร ผู้ช่วยเลขาธิการสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย คปภ. กล่าวว่า ขณะนี้ทาง สศก.อยู่ระหว่างเก็บสถิติข้อมูล เพื่อจะได้ข้อมูลมาใช้กำหนดอัตราค่าเบี้ยประกัน ซึ่งสำนักงาน คปภ.ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้บริษัทประกันวินาศภัยเข้าไปมีส่วนในการรับประกันภัยพืชผลให้เกิดความยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชเศรษฐกิจของไทย

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เนื่องจากขณะนี้ยังต้องรอข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อนำมากำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยข้าวโพดที่เหมาะสม จึงเป็นไปได้ว่าอาจจะเริ่มไม่ทันรอบเพาะปลูกที่จะเริ่มเดือน พ.ย.ปีนี้

“เดิมจะกำหนดให้เริ่มปีนี้ ในรอบเพาะปลูกเดือน พ.ย.นี้เลย แต่ตอนนี้คิดว่าคงไม่ทัน คงต้องเริ่มปีหน้า เนื่องจากยังต้องรอข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร แต่เริ่มช้าก็ไม่เป็นไร ทำให้รอบคอบดีกว่า”แหล่งข่าวกล่าว

นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย นายกสมาคมการค้าพืชไร่ กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องที่หน่วยงานภาครัฐ กับสมาคมประกันวินาศภัยฯ เสนอให้มีการทำประกันภัยข้าวโพด 8 ล้านไร่ และกำหนดอัตราเบี้ย1,480 บาท/ไร่ และในปีที่ผ่านมาก็ไม่มีโครงการลักษณะนี้ แต่หากจะเริ่มโครงการในช่วงนี้ก็จะทันฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดปี 2561/2562 ซึ่งก่อนหน้านี้ทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)ประเมินว่ามีการปลูกประมาณ 6.8 ล้านไร่

อย่างไรก็ตาม มองว่าอัตราเบี้ยประกันที่กำหนด 1,480 บาท ถือว่าสูงเกินไปเทียบกับปัจจุบันเกษตรกรปลูกได้ 2,000 บาท/ไร่เท่านั้น