พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร ตอนที่ 4 : “ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับการลงมือปฏิบัติ”

จากการจากไปของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา ผมจึงขอพักเรื่องอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช ไว้ก่อน และขออุทิศข้อเขียนนี้เพื่อไว้อาลัยต่อการจากไปของท่าน พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร โดยเรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ที่ผมได้รับความกรุณาจากท่านเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งปีก่อนที่ท่านจะจากไป

คราวนี้ พวกเราถามท่านอาจารย์วสิษฐเกี่ยวกับตอนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลยทราบว่า ในคราวที่พระองค์เสด็จฯ จุฬาฯ อาจารย์วสิษฐก็ได้ตามเสด็จแล้ว และในช่วงที่พระองค์ท่านทรงดนตรี ท่านวสิษฐถวายการอารักขา และยืนเฝ้าอยู่ตลอดเป็นเวลาหลายชั่วโมง

และท่านอาจารย์วสิษฐเล่าถึงบรรยากาศที่จุฬาฯ ตอนนั้นว่าเป็นบรรยากาศที่ค่อนข้างอบอุ่น และทุกคนก็ดีอกดีใจที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ โดยเฉพาะที่ทรงมีพระราชดำรัสที่เป็นกันเอง

และเมื่อคราวเสด็จฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์วสิษฐก็บอกว่า บรรยากาศก็ไม่ต่างจากจุฬาฯ

“เหมือนกันครับ ไม่มีต่างกัน แล้วนิสิตจุฬาฯ กับนักศึกษาธรรมศาสตร์ อาการที่แสดงกับพระเจ้าอยู่หัวก็เหมือนกัน”

 

และเมื่อพูดถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พวกเราก็อยากรู้ว่า ทำไมหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี?

ท่านอาจารย์วสิษฐกล่าวว่า “ก่อนที่อาจารย์สัญญาจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านเป็นองคมนตรี ผมคิดว่าพระเจ้าอยู่หัวโปรดอาจารย์สัญญา เพราะเป็นคนที่มีความรู้มาก เพราะอาจารย์สัญญา ถ้าพูดแบบคนเป็นเป็นด้วยกันนี่นะ ท่านเป็นคนที่อยู่ในศีลในธรรมอย่างเหลือเชื่อ แล้วพระเจ้าอยู่หัวท่านสนพระทัยในเรื่องการปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้น พระองค์ท่านก็ตรัสกับอาจารย์สัญญาอย่างใกล้ชิดมาก”

พวกเราอยากรู้อีกว่า ในหลวงสนใจเรื่องการปฏิบัติธรรม เรื่องเกี่ยวกับศาสนาตั้งแต่เมื่อไร ตอนที่อาจารย์วสิษฐไปตามเสด็จพระองค์ท่าน พระองค์ได้เริ่มสนใจการปฏิบัติธรรมหรือยัง?

อาจารย์วสิษฐบอกว่าตอนที่ตามเสด็จ ในหลวงท่านก็ทรงเริ่มปฏิบัติธรรมแล้ว “เพราะพระองค์ท่านทรงผนวชเมื่อปี 2499 พระองค์ท่านทรงผนวชอยู่เพียง 11 วันเท่านั้นเอง แต่ตั้งแต่ตอนนั้นมา พระองค์ท่านไม่หยุดศึกษา ไม่หยุดปฏิบัติ ตอนผมเข้าไปเป็นนายตำรวจราชสำนักประจำ พระองค์ท่านกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องกรรมฐานไปแล้ว” และในหลวงท่านได้เสด็จไปหาพระอาจารย์ที่สำคัญหลายรูป ซึ่งส่วนมากเป็นภาคอีสาน

“ท่านอาจารย์มหาบัว วัดป่าบ้านตาด ท่านอาจารย์เทสก์ วัดหินหมากเป้ง ท่านอาจารย์ชา วัดหนองป่าพง เกือบจะทุกรูปเลย แล้วก็ฤๅษีลิงดำด้วย แล้วเวลาพระองค์ท่านเสด็จไปหาครูบาอาจารย์เหล่านี้ พระองค์ท่านจะทรงใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ หลวงปู่ขาว หลวงปู่แหวน หลวงปู่แหวนนี่ ผมเป็นส่วนที่ต้องล่วงหน้าไปกราบหลวงปู่แหวนก่อน เพราะหน้าที่ของนายตำรวจราชสำนักในสมัยนั้น ก็คือต้องออกไปตามหาข้อมูลเกี่ยวกับพระอาจารย์มาถวาย แล้วมาถวายรายงานพระองค์ท่าน”

พวกเราก็ยังซอกแซกต่อว่า “พระองค์ท่านสนใจในแง่ของวิชาการ การปฏิบัติ แล้วมีในแง่ของพลังวิเศษอะไรด้วยไหมครับ”

 

ท่านอาจารย์วสิษฐตอบว่า

“วิชาการกับปฏิบัติก่อน พลังวิเศษตามมาทีหลัง พระองค์ท่านไม่ได้รับสั่งว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่พระองค์ท่านทรงแสดงออกด้วยการปฏิบัติ อย่างพระอาจารย์ฝั้น ที่วัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ตอนนั้นพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ (ภูพาน) ยังไม่ได้สร้าง ก็เสด็จขึ้นไปทอดพระเนตรที่จะสร้าง ไปด้วยเฮลิคอปเตอร์ ตอนนั้นที่ประทับคือเขื่อนน้ำอู ก่อนจะเสด็จ พระองค์ท่านก็รับสั่งโดยเราไม่รู้มาก่อนว่า ฉันจะลงไปเยี่ยมท่านอาจารย์ฝั้น ไม่มีหมายกำหนดการ เราก็ต้องกุลีกุจอจัดถวาย ผมต้องเป็นส่วนล่วงหน้าไปดูสนามเฮลิคอปเตอร์ เพราะเหตุว่าไม่ได้เตรียมไว้ก่อน”

“ในที่สุดเราก็ตกลงกันว่า ให้จอดเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งที่สนามหน้าโรงเรียนใกล้ๆ วัดป่าอุดมสมพร ส่วนล่วงหน้า พวกเราพอไปถึง ท่านอาจารย์ฝั้นถือไม้เท้าเดินมารออยู่ก่อนแล้ว แปลว่าท่านสื่อกันได้ ไม่มีใครรู้เลย พระเจ้าอยู่หัวไม่ได้บอกใครก่อนเลย และพอบอกก็จะลงไปเลย”

 

ท่านวสิษฐ “อีกเรื่องหนึ่งคือค่อนข้างจะสลับซับซ้อนหน่อย คือเสด็จจากพระตำหนักภูพิงค์ที่เชียงใหม่โดยไม่มีหมาย ก็ตั้งขบวนกัน แล้วก็พอตกเย็นสัก 4-5 โมงได้ ก็เคลื่อนขบวนลงมาจากภูพิงค์ ผมเป็นคนนั่งรถนำ ทางขึ้นภูพิงค์มันฉวัดเฉวียนมาก ผมเมารถ ผมก็เลยบอกนายตำรวจที่ทำหน้าที่คู่กันว่า ให้คุณดูทางนะ ผมเมา แล้วผมแก้เมาด้วยการทำสมาธิ”

“พอผมทำสมาธิได้สักครู่หนึ่ง ผมก็ได้นิมิต คือเห็นทั้งๆ ที่ตายังหลับอยู่นะ เห็นเป็นรูปพระพุทธรูปองค์ใหญ่อยู่ในวิหาร แล้วที่หน้าพระพุทธรูปก็มีคนเดินไปเดินมา พอหายเมา ผมก็บอกตัวเองว่า เอออันนี้เป็นนิมิตที่ดี เห็นพระพุทธรูป พอมาถึงตีนภูพิงค์ ดอยสุเทพ พระองค์ท่านก็บอกให้เลี้ยวรถไปทางใต้ ไปอำเภอหางดง เราก็ไม่รู้ว่าพระองค์ท่านจะเสด็จไปที่ไหน”

“พอเลยดอยหางดงไปทางแยกเข้าอำเภอสันป่าตอง พระองค์ท่านก็บอกให้เลี้ยวขวา เราก็นึกว่า เออ พระองค์ท่านคงจะเสด็จสวนส้มบางน้ำค้างของท่านรัฐมนตรีพันธุ์เลิศ (บูรณะศิลปิน) คุณพันธุ์เลิศตอนนั้นท่านเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ มีสวนส้มบางน้ำค้างมีชื่อมากของเชียงใหม่สมัยนั้น และในหลวงท่านก็เคยเสด็จมาก่อน แต่พอเลี้ยวมาถึงหมู่บ้านชื่อบ้านกลาง พระองค์ท่านก็หยุดลงที่นั่น เราก็เลยรู้ว่าพระองค์ท่านจะเสด็จไปพระราชทานศาลารวมใจที่ได้พระราชทานเงินให้แก่ชาวบ้านไปสร้างเพื่อสำหรับใช้เป็นที่ประชุมของชาวบ้าน”

“แล้วพอเสด็จลงจากรถพระที่นั่ง ผมก็มองเห็นวัด แล้วก็รู้ว่าปรกติในหลวงจะเสด็จเข้าวัดก่อนที่จะไปเยี่ยมชาวบ้าน ก็เป็นไปตามคาดหมาย คือพระเจ้าอยู่หัวบอกว่า ฉันจะไปเยี่ยมวัดก่อน แต่พอไปถึงประตูโบสถ์ ผมต้องเข้าก่อน เพราะหน้าที่ผมก็คือต้องเดินนำ เพราะถ้ามีอันตรายอะไรก็ต้องเกิดกับผมก่อน พอเข้าไปถึงประตูโบสถ์เงยหน้าขึ้น ผมก็เห็นพระพุทธรูปองค์นั้นที่เห็นในนิมิตแล้วก็มีคนรอเข้าเฝ้าฯ เหมือนในนิมิตทุกอย่าง พระเจ้าอยู่หัวทรงส่งกระแสมาที่ผม แล้วผมก็เห็นตามพระองค์ท่าน (หัวเราะเบาๆ)”

แล้วอีกคำถามของพวกเราก็คือ “อะไรทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสร้างพระเครื่องขึ้นมา อย่างพระผงจิตรลดาอะไรต่างๆ”

 

ท่านวสิษฐ “อ๋อ ก็ตอนนั้นเราส่งทหารไปรบที่เวียดนาม ก็ไปรบกัน ตายเยอะเลย แล้วก็เลยมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานกำลังใจให้พวกที่เขาทำหน้าที่ พระองค์ท่านก็เลยสร้างพระ ที่เดี๋ยวนี้เรียกกันว่าสมเด็จจิตรลดา แต่ตอนนั้นไม่มีชื่อหรอก อาจารย์คึกฤทธิ์ท่านเรียกว่าพระกำลังแผ่นดิน ตอนหลังมาเรียกกันว่าสมเด็จจิตรลดา พระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ตั้งชื่อ ทีแรกก็พระราชทานให้ทหารก่อน แต่ทีนี้พวกที่ไปรบในเมืองไทยนี่ก็เสี่ยงอันตราย เรียกว่าล้มหายตายจากเหมือนกัน”

“ต่อมาก็เลยพระราชทานมาถึงตำรวจด้วย แรงบันดาลใจคงมีแค่นี้เอง แล้วก็สร้างได้สองพันกว่าองค์ก็เลิก ทุกองค์สร้างด้วยพระหัตถ์นะครับ พระองค์ท่านโปรดให้ท่านอาจารย์ที่เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาประติมากรรมมาแกะพิมพ์ให้ แล้วทีแรกเขาก็แกะด้วยหินธรรมดา พระองค์ท่านกดพระแต่ละองค์ลงในพิมพ์ด้วยพระหัตถ์ทุกพระองค์ แรงของพระองค์ท่านทำให้พิมพ์แตกเลย”