“Bike Sharing” สตาร์ทอัพเข้าภาวะฟองสบู่ กิจการทั่วโลกทยอยปิดตัว

ช่วง 1-2 ปีมานี้เกิดภาวะฟองสบู่ของธุรกิจสตาร์ตอัพในวงการ “bike sharing” ในหลายประเทศ จนต้องปิดตัวลงต่อเนื่อง จากที่เคยเป็นความหวังใหม่ช่วยลดโลกร้อนให้ดีขึ้น นักวิเคราะห์มองว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหา ทั้งในด้านโมเดลธุรกิจที่ไร้ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการจัดการสถานที่จอดที่ไม่เป็นระบบ, ซัพพลายล้นตลาด และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มากขึ้น

หลาย ๆ สื่อพูดถึงสถานการณ์ของ bike sharing มากขึ้น เพราะดูเหมือนกำลังเข้าสู่ภาวะ “โอเวอร์ซัพพลาย” อย่างจริงจัง โดยเฉพาะในตลาดจีนซึ่งเคยเติบโตเร็วที่สุด หลายบริษัทของจีนทั้งขนาดกลางและเล็กมีปัญหาขาดทุน ที่เห็นได้ชัดคือในปี 2017 ที่ผ่านมา มี 5 บริษัทสตาร์ตอัพของจีนต้องยุติกิจการ ได้แก่ บริษัท Kuqi Bike, 3Vbike และ Bluegogo ที่ปิดกิจการทั้งในประเทศจีน และสหรัฐ เพราะปัญหาขาดสภาพคล่อง

ขณะที่อีก 2 บริษัท ที่สื่อของจีนพูดถึงมากที่สุด ได้แก่ Wukong Bicycles มีรายงานว่า เปิดตัวได้เพียง 5 เดือน สูญเงินไป 140,000 ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากรถจักรยาน 90% นั้นสูญหายและถูกขโมย ส่วนบริษัท Mingbike ประกาศปลดพนักงานถึง 99% และซีอีโอลาออก แถมบริษัทยังถูกผู้ใช้บริการรถจักรยานกว่า 30,000 ราย ร้องเรียนว่าไม่ยอมคืนเงินค่ามัดจำหลังจากที่ปิดกิจการไป

ปรากฏการณ์เหล่านี้ไม่เพียงเกิดขึ้นแค่ในประเทศจีนเท่านั้น แต่ยังลุกลามเกิดกับอีกหลายประเทศทั่วโลก โดยปีนี้มีรายงานว่า บริษัท oBike จากสิงคโปร์ ที่รุกตลาดในเมืองเมลเบิร์นของออสเตรเลีย รวมทั้ง “Ofo”ธุรกิจแชร์จักรยานรายใหญ่ที่สุดของโลกของจีน ที่มีอาลีบาบาและเสี่ยวมี่เป็นแบ็กอัพธุรกิจอยู่ ทั้งสองบริษัทประกาศระงับการให้บริการในออสเตรเลีย เปิดธุรกิจได้ไม่ถึงหนึ่งปี เหตุเพราะกำไรต่ำกว่าเป้าหมายมาก ทั้งยังเผชิญปัญหาการร้องเรียนเรื่องที่จอดจักรยานไม่เป็นระเบียบ สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น

แม้แต่ใน “อิสราเอล” หนึ่งในประเทศที่ประชากรหลงใหลในการขี่จักรยานอันดับต้น ๆ ของโลก ธุรกิจแชร์จักรยานยังต้องเผชิญกับความท้าทายในเรื่องดีมานด์ที่ต่ำเกินเป้าหมาย รวมถึงการจัดการระบบที่จอดจักรยานแบบไร้สถานีนั้นไร้ประสิทธิภาพ ซึ่ง Ofo ที่เปิดให้บริการในกรุงเทลอาวีฟได้เพียง 5 เดือน ประกาศถอนตัวพร้อมกับปิดกิจการในประเทศอื่นในตะวันออกกลาง และเยอรมนีด้วย

และในช่วงต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา “Gobee” ธุรกิจแชร์จักรยานแห่งแรกของฮ่องกงก็ได้ปิดกิจการเช่นกัน ด้วยเหตุผลเรื่องค่าบำรุงรักษาจักรยานไม่สมดุลกับรายได้ ส่วนใน “สิงคโปร์” ซึ่งมีประชากรเพียง 5 ล้านคน แต่กลับมีผู้ให้บริการมากถึง 8 ราย ทำให้ล่าสุด 3 บริษัทแชร์จักรยานสัญชาติสิงคโปร์ ได้แก่ GBikes, oBike และ ShareBikeSG ประกาศยุติกิจการอย่างเป็นทางการ

นอกจากนี้ในสัปดาห์ก่อน Ofo แถลงเตรียมปิดกิจการในหลายเมืองของสหรัฐ โดยอ้างเรื่องดีมานด์ที่ไม่แข็งแกร่ง ซึ่งปัจจุบัน Ofo เปิดให้บริการในสหรัฐกว่า 30 แห่ง และมีจักรยานทั้งหมด 40,000 คัน คาดว่าหลังจากนี้จะเหลือเพียง 10 แห่ง หรือน้อยกว่านั้น

บริษัทที่ปรึกษาการพัฒนาธุรกิจในสิงคโปร์แห่งหนึ่งกล่าวกับ “สเตรตส์ไทมส์” ระบุว่า โมเดลของธุรกิจสตาร์ตอัพแชร์จักรยานส่วนใหญ่ยังไม่เป็นระบบ เน้นที่ความสะดวกสบายของผู้ใช้เป็นหลัก แต่ไม่คำนึงถึงวิธีการใช้ที่ถูกต้อง จึงสร้างปัญหาให้กับสังคม แทนที่จะได้รับประโยชน์ ทำให้กรมการขนส่งสิงคโปร์เตรียมออกกฎหมายกำกับดูแลบริการแชร์จักรยาน ซึ่งจะบังคับใช้ในปีนี้ หลังจากที่พบว่ามีจักรยานจอดไม่เป็นระเบียบเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นความท้าทายใหม่ในธุรกิจแชร์จักรยานเพิ่มขึ้นในอนาคต

ตัวอย่างเช่น ที่ผ่านมาลูกค้ามักจะนำจักรยานที่เช่าไปจอดไว้บนทางเท้า หรือตามบริเวณพื้นที่ห้ามจอด จนตำรวจจราจรต้องยึดจักรยานเหล่านั้นไป ทำให้ทางบริษัทต้องเป็นผู้เสียค่าปรับเอง และปัญหานี้เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในสิงคโปร์

ขณะที่การแข่งขันในตลาดแชร์จักรยานสูงขึ้น มีผู้เล่นหน้าใหม่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา นักวิเคราะห์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กมองว่า แม้อัตราการเติบโตของประชากรโลกสูงขึ้น แต่ธุรกิจเหล่านี้มีเยอะเกินความจำเป็น จึงส่งผลให้เกิดภาวะโอเวอร์ซัพพลาย กลายเป็นปรากฏการณ์สุสานจักรยานในหลาย ๆ เมืองทั่วโลก

นักวิเคราะห์กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนโครงสร้างพื้นฐานในหลาย ๆ ประเทศโดยเฉพาะในเอเชีย มีส่วนทำให้ธุรกิจแชร์จักรยานเกิดความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลายขึ้น รวมถึงปัจจัยอื่นอย่างความไม่เหมาะสมของสภาพอากาศ และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านอื่น ๆ เช่น เลนจักรยาน ควรเป็นปัจจัยเสริมที่นำมาพิจารณาเพื่อให้เกิดธุรกิจโมเดลที่แตกต่างกัน