สื่อต่างชาติชี้ ข้อมูลความเสียหายเหตุเขื่อนลาวแตกน้อย-คลุมเครือ ท่ามกลางความช่วยเหลือจากทุกสารทิศ

วันที่ 26 กรกฎาคม 2561 สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานสถานการณ์เหตุเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยในแขวงอัตตะปือ สปป.ลาวพังทลาย ทำให้มวลน้ำ 5 พันล้านลูกบาศก์เมตรเข้าท่วมทำลายทรัพย์สินและประชาชนต้องเสียชีวิตและสูญหาย ได้เข้าสู่วันที่ 3 แล้ว แต่กระนั้น ยังไม่สามารถระบุขนาดความเสียหายที่แน่ชัดได้ ส่วนหนึ่งมาจากการไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ประสบภัย นอกจากรายงานที่ถูกส่งจากรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ลาวที่ให้น้อยและขาดแคลน

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ สปป.ลาวให้ข้อมูลกับรอยเตอร์สว่า มีประชาชนหลายสิบที่เกรงว่าจะเสียชีวิตหลังเกิดเหตุเขื่อนแตก ซึ่งในวันเดียวกัน หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทม์สรายงานว่า มีประชาชนเสียชีวิต 19 รายและอีกกว่า 3,000 ชีวิตกำลังรอความช่วยเหลือ โดยหลายคนอยู่บนหลังคาบ้านที่ถูกน้ำท่วมตัวบ้านหมด อย่างไรก็ตาม เวียงจันทน์ไทม์สได้อ้างคำกล่าวของนายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีสปป.ลาวกล่าวว่า มีผู้สูญหาย 131 คน มีเพียง 1 ราย เสียชีวิตและอีกหลายชีวิตต้องหลบภัยอยู่บนหลังคาหรือตามต้นไม้เพื่อความปลอดภัย

เวียงจันทน์ไทม์สรายงานว่า คำให้สัมภาษณ์ดังกล่าว เป็นการแก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาดที่ออกจากหลายสื่อว่าจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น

ด้านสำนักงานประสานงานกิจการมนุษยธรรมของยูเอ็นได้กล่าวว่า ถนนและสะพานได้รับความเสียหาย หมู่บ้าน 8 แห่งถูกน้ำท่วมหนัก จึงมีเพียงเรือและเฮลิคอปเตอร์เท่านั้นที่เข้าถึงพื้นที่ประสบภัยได้ ส่วนโรงเรียนในพื้นที่ปลอดภัยถูกใช้เป็นศูนย์พักพิง และมีชาวบ้านประมาณ 1,300 ครอบครัวต้องการเต้นท์หลับภัย

เช่นเดียวกับบางพื้นที่ในเมืองแสนน้ำใส ซึ่งได้รับผลกระทบหนักสุด มีรถบรรทุกช่วยเหลือของนอร์เวย์นำเวชภัณฑ์ รวมทั้งน้ำสะอาดและผ้าห่มให้ผู้ประสบภัย

ขณะที่ พระอาจารย์ธนากร ได้กล่าวว่า ได้ส่งอาหารและยาไปกับรถบรรทุก 4 คันและกำลังมุ่งหน้ากลับเวียงจันทน์เพียงขอรับสิ่งของเพิ่มเติม

สถานการณ์เลวร้ายมาก ความพยายามในการบรรเทาทุกข์ทั้งหมดมุ่งไปที่แสนน้ำใส ที่นั้นมีอาสาสมัครแจกจ่ายอาหารและยาให้กับผู้ประสบภัยทุกวัน ซึ่งตอนนี้กำลังขาดแคลนอาหาร ยาและโลงศพ” พระอาจารย์ธนากรกล่าว

ส่วนสื่อของรัฐบาลลาวกล่าวเมื่อวานนี้ว่า ทีมกู้ภัยของลาวและจีนได้มุ่งหน้าไปที่แขวงอัตตะปือ

ลาวมีความปรารถนาที่จะเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” ด้วยโครงการเขื่อนหลายแห่งทั่วลาว ซึ่งรัฐบาลลาวต้องอาศัยบริษัทก่อสร้างจากภายนอกประเทศเข้ามาสร้างเขื่อนภายใต้สัมปทานเชิงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศไทยที่กระหายกระแสไฟฟ้า โดยกลุ่มเทอร์ร่า องค์กรไม่แสวงหากำไรของไทยกล่าวว่า ตอนนี้ ลาวมีเขื่อนที่สร้างแล้วเสร็จ 11 แห่ง และอีก 11 แห่งกำลังก่อสร้างและตามแผนอีกหลายสิบแห่ง

ที่ผ่านมา องค์กรสิทธิฯหลายกลุ่มได้ออกมาเตือนหลายครั้งถึงต้นทุนมนุษย์และสิ่งแวดล้อมที่ต้องแลกกับความปรารถนาในการสร้างเขื่อน รวมถึงความเสียหายต่อระบบนิเวศในพื้นที่