เรื่องราวสุดประทับใจ เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ‘ในหลวง’ ทรงแสดงโขนเป็น ‘วิรุณจำบัง’

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ ห้องอเนกประสงค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ จัดงานเสวนาวิชาการเรื่อง “ใต้ร่มพระมหากรุณา มหาวชิราลงกรณ” เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม และเพื่อเผยแพร่พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจด้านต่างๆ และพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหัวข้อเรื่อง “พระมหากรุณาธิคุณต่อวงการศิลปกรรม” และ “พระมหากรุณาธิคุณต่อวงการนาฏดุริยางคศิลป์ไทย” โดยมี นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมีประชาชนใส่เสื้อสีเหลืองเข้าร่วมรับฟังการเสวนาจำนวนมาก

นายอำพล สัมมาวุฒิ นักวิชาการช่างศิลป์เชี่ยวชาญ (วิจัยและพัฒนาศิลปกรรม) กล่าวในหัวข้อ “พระมหากรุณาธิคุณต่อวงการศิลปกรรม” ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะพัฒนาประเทศชาติให้เจริญดังเช่นนานาประเทศ ทรงเป็นนักพัฒนา ทั้งยังทรงเป็นนักอนุรักษ์นิยมผู้มีความสามารถและตั้งพระราชหฤทัยดูแลและรักษา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอันมีค่าของประเทศชาติ ซึ่งในขณะเดียวกันเรื่องงานศิลปกรรมของชาติก็ทรงไม่ทอดทิ้ง เฉกเช่น ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่สำนักช่างสิบหมู่ต้องเขียนแบบขนาดย่อ และลงสีให้เหมือนจริง ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณาและวินิจฉัยอีกขั้นเพื่อความสมบูรณ์ งดงามและสมพระเกียรติ

“นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ในรูปแบบของ ส.ค.ส. พระราชทาน ที่มีลายฝีพระหัตถ์น่ารัก เข้าใจง่าย และจัดวางองค์ประกอบได้อย่างลงตัว เช่น การละเล่นพื้นบ้านของไทย รีรีข้าวสาร มอญซ่อนผ้า ซึ่งเป็นการสืบสานวัฒนธรรมของไทยผ่านผลงานศิลปะในอีกทางหนึ่ง” นายอำพลกล่าว

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร มอบของที่ระลึกให้กับนายอำพล สัมมาวุฒิ

ด้าน นายจตุพร รัตนวราหะ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์-โขน) ผู้เคยถวายการสอนนาฏศิลป์โขนแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะยังทรงพระเยาว์ กล่าวในหัวข้อ “พระมหากรุณาธิคุณต่อวงการนาฏดุริยางคศิลป์ไทย ว่า ในการเรียนนาฏศิลป์ เบื้องต้นจะดูที่รูปร่างของผู้เรียนว่าเหมาะสมกับตัวละครอะไร อาทิ ตัวยักษ์ ตัวลิง อีกทั้งการเรียนโขนไม่ได้ง่ายเลย เพราะต้องจำท่าเยอะมาก ซึ่งขณะที่ตนสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยนาฏศิลป์ มีโอกาสได้เข้าไปถวายการสอนโขนแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ โรงเรียนจิตรลดา ในบทบาทของตัวยักษ์ “วิรุณจำบัง” โดยพระองค์ทรงศึกษาพร้อมกับพระสหาย

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร มอบของที่ระลึกให้กับนายจตุพร รัตนวราหะ

“ในนาฏศิลป์โขนนั้น ตัวยักษ์สำคัญที่สุด เพราะมีบทบาทที่ใช้ในการแสดงเยอะ ขณะนั้นผมคิดว่าพระองค์ที่ยังทรงพระเยาว์จะจำบทรำได้หรือเปล่า ซึ่งปรากฏว่าพระองค์ทรงจำได้ และสนพระราชหฤทัยในเรื่องการศึกษาเป็นอย่างมาก ซึ่งก่อนจะมาศึกษาตัวยักษ์ พระองค์ทรงศึกษาตัวลิงมาก่อน ซึ่งบทบาทของทั้งสองตัวละครแตกต่างกันมาก เช่น ท่ารำของตัวลิงจะมีลักษณะ พลิ้วไหว ซุกซน ขณะที่ตัวยักษ์จะร่ายรำด้วยท่วงท่าสง่างาม อกไหล่ผึ่งผาย ตัวยักษ์จึงเหมาะสมกับพระองค์มากกว่า ด้วยพระวรกายที่สูงใหญ่ขึ้นตามพระชนมายุ” นายจตุพรกล่าว

นายจตุพรกล่าวอีกว่า จากนั้นที่โรงเรียนจิตลดา ทุกปิดภาคเรียนจะมีการแสดงของนักเรียน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกที่จะแสดงโขนเป็นยักษ์ “วิรุณจำบัง” ด้วยเหตุผลว่า เป็นยักษ์ที่มีอิทธิฤทธิ์สูง สามารถหายตัวได้ ทำให้ขณะที่ทรงแสดงโขนพร้อมพระสหาย พระองค์ทรงพระเกษมสำราญอย่างมาก

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีความมุมานะเป็นอย่างมาก เพราะการเรียนโขนไม่ใช่เรื่องง่าย พระองค์ทรงตรัสถามทุกครั้งที่ทรงจำท่าไม่ได้ หรือสอบถามตลอดว่าร่ายรำแบบนี้ถูกต้องหรือไม่ และยังทรงมีพระอารมณ์ขันอีกด้วย” นายจตุพรกล่าว