ย่อยข่าวเศรษฐกิจ : อนุมัติทีจีเพิ่มฝูงบินแสนล้าน / ปรับเป้าส่งออกปี “61พุ่ง 9% / กองทุนแอลพีจีถังแตก-ตรึงราคาถึงสิ้นปี / เซ็นทรัลสนประมูลสถานีกลางบางซื่อ

แฟ้มข่าว

ปรับเป้าส่งออกปี “61พุ่ง 9%

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์จะปรับเป้าหมายการส่งออกปี 2561 จากเดิม 8% เป็น 9% แม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องสงครามการค้าโลกเข้ามากระทบ เช่น สงครามการค้าโลกระหว่างสหรัฐและจีน สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก กระทรวงพาณิชย์ได้ทำงานอย่างหนักร่วมกับกระทรวงการคลังในการผลักดันเศรษฐกิจฐานรากผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ล่าสุดได้ขยายรูปแบบของการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยให้ร้านโชห่วย ร้านอาหาร ตลาดสด เข้าร่วมโครงการธงฟ้าประชารัฐด้วยการสมัครใช้แอพพลิเคชั่นถุงเงินประชารัฐผ่านโทรศัพท์มือถือในการรับชำระค่าสินค้าจากผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้แล้วกว่า 1.5 หมื่นราย และคาดว่าจะสามารถผลักดันให้ร้านค้าเข้าร่วมได้ตามเป้าหมาย 1 แสนรายภายในปีนี้ ทำให้เอสเอ็มอีให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีการใช้จ่ายซื้อสินค้าและหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจฐานราก นอกจากนี้ได้เร่งเครื่องในการช่วยเหลือสินค้าเกษตรไม่ให้ราคาตกต่ำ โดยรัฐบาลมีการวางแผนในการดูแลราคาสินค้าเกษตรไว้หมดแล้ว โดยเฉพาะการใช้อีคอมเมิร์ซ เข้ามาเป็นช่องทางซื้อขายสินค้าเกษตร

กองทุนแอลพีจีถังแตก-ตรึงราคาถึงสิ้นปี

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในการประชุม ได้อนุมัติให้นำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของบัญชีน้ำมันไปอุดหนุนราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ภาคครัวเรือน เพื่อตรึงราคาขายปลีกตลอดทั้งปีให้อยู่ที่ 363 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม (ก.ก.) ทำให้สถานะกองทุนฯ ณ วันที่ 15 กรกฎาคม 2561 ในส่วนบัญชีแอลพีจีติดลบอยู่ประมาณ 117 ล้านบาท บัญชีน้ำมันมีเงินอยู่ 2.96 หมื่นล้านบาท คิดเป็นเงินสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ 2.95 หมื่นล้านบาท

ที่ประชุม กบง. อนุมัติให้มีการนำเงินกองทุนในส่วนของบัญชีน้ำมันมาอุดหนุนแอลพีจีได้ไม่เกิน 3,000 ล้านบาท เพื่อตรึงราคาก๊าซหุงต้มถังตลอดทั้งปี แต่หากยังไม่เพียงพอจะต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุม กบง. เพื่ออนุมัติเงินอุดหนุนเพิ่มเติมต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาคประชาชน อย่างไรก็ดี ขณะนี้สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนบัญชีก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ติดลบแล้วประมาณหลักสิบกว่าล้านบาท แต่สถานะของกองทุนน้ำมันยังมีเงินอยู่ประมาณเกือบ 3 หมื่นล้าน ดังนั้น เชื่อว่าจะสามารถบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบได้อย่างแน่นอน

เซ็นทรัลสนประมูลสถานีกลางบางซื่อ

นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด เปิดเผยว่า เซ็นทรัลได้เข้าร่วมซื้อซองเอกสารโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน เพื่อนำมาศึกษาโครงการ แต่จะตัดสินใจลงทุนหรือไม่นั้นยังไม่ได้สรุป ที่สนใจคือการเข้าไปพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสถานีมักกะสันเพราะเป็นธุรกิจที่เซ็นทรัลชำนาญ และเชื่อว่าเอกชนที่ร่วมซื้อซองรวม 31 ราย จะรวมกลุ่มเป็นกิจการร่วมค้าเพื่อประมูลเพียง 5-6 กลุ่ม ซึ่งเซ็นทรัลได้เจรจากับหลายกลุ่มทุน หลักๆ เป็นเอกชนในประเทศ นอกจากนี้ยังมองโอกาสจะร่วมประมูลพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อพื้นที่แปลงเอที่จะเปิดประมูลในปีนี้ อยู่ระหว่างวิเคราะห์ผลตอบแทนและกลุ่มลูกค้าที่จะเข้าใช้พื้นที่ “ยอมรับว่าไม่เคยลงทุนพัฒนาโครงการลักษณะนี้ จึงต้องพิจารณาเรื่องความคุ้มค่าของการลงทุน ต้องศึกษาตลาดอย่างรอบคอบ แต่มองว่ารัฐบาลมาถูกทาง คมนาคมคือการลงทุนของประเทศ หากไม่ลงทุน ประเทศจะไม่เจริญ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะมีผลโดยตรงกับธุรกิจภาคบริการ และเป็นการกระจายทั่วประเทศ ซึ่งในช่วง 30 ปีไม่เคยเห็นลงทุนครบและใช้เม็ดเงินมากเช่นนี้”

ทั้งนี้ อยากให้รัฐบาลมองโอกาสการพัฒนาไฮสปีดเทรนเชื่อมต่อกรุงเทพฯ กับพื้นที่ระยะ 100 กิโลเมตร เพิ่มเติม เช่น อยุธยา เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยผลักดันอุทยานประวัติศาสตร์ เชื่อว่าจะช่วยสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่นได้ ดึงโมเดลญี่ปุ่นที่มีการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างเมืองโอซาก้า-เกียวโตมาเป็นตัวอย่าง

อนุมัติทีจีเพิ่มฝูงบินแสนล้าน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการดำเนินงานด้านการบิน นอกจากความร่วมมือของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กับแอร์บัสแล้ว จะขยายศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) ทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อต่อยอดแผนงานเดิมให้เป็นเอ็มอาร์โอเต็มรูปแบบ เพื่อพัฒนาเมืองการบินในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยทางการบินไทยได้เดินหน้าเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด ตามแผนการจัดซื้อฝูงบินจำนวน 23 ลำ วงเงินประมาณ 100,000 ล้านบาท เพื่อทดแทนเครื่องบินที่ปลดระวาง ตามแผนงบประมาณ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2564 ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้อนุมัติแผนที่การบินไทยเสนอมาแล้ว และพร้อมที่จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ ก่อนจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นลำดับต่อไป

นอกจากนี้มีแผนเช่าเครื่องบิน รุ่นเอ 380 และดรีมไลเนอร์ด้วย เพื่อเสริมฝูงบินตามเส้นทางที่เปิดให้บริการ โดยจะดำเนินการตามลำดับภายหลังมีการจัดซื้อฝูงบินใหม่แล้ว