‘ธนาธร’ โชว์ไอเดีย แก้ปัญหาบีทีเอส และการพัฒนาระบบขนส่งทางรางในประเทศ

วันนี้ (15 ก.ค.) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่   อดีตรองประธานกรรมการ ไทยซัมมิท กรุ๊ป  โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แสดงความเห็น เกี่ยวกับการแก้ปัญหาบีทีเอสรวมถึงการพัฒนาระบบรางของไทย โดยเขียนบทความ

” แก้ปัญหาบีทีเอสและการรถไฟด้วยการปลดปล่อยศักยภาพของราง รางเป็นของรัฐ – ตู้รถเป็นของเอกชน” มีรายละเอียดดังนี้

เดินทางไปญี่ปุ่นรอบนี้ผมใช้บริการรถไฟเยอะมาก ระหว่างทางก็คิดเรื่องระบบรถไฟของไทยไปด้วย ว่าทำไมไทยกับญี่ปุ่นซึ่งเริ่มต้นพัฒนาระบบรางในช่วงเวลาเดียวกัน ถึงได้ผลลัพธ์ที่ต่างกันเหลือเกินในปัจจุบัน และผมก็พบว่าปัญหาระหว่างประสิทธิภาพและการผูกขาดการให้บริการสาธารณะเป็นปัญหาใหญ่ที่การแก้ปัญหาไม่ยากอย่างที่คิด

หากการเป็นเจ้าของสาธารณูปโภคพื้นฐานอยู่ในมือของรัฐ ประสบการณ์จากการรถไฟไทยบอกเราว่าการพัฒนานวัตกรรมจะตามไม่ทันโลก ไม่มีบริการที่ประทับใจลูกค้า และการบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ

แต่หากเรายกการเป็นเจ้าของสาธารณูปโภคพื้นฐานให้เอกชน มีหลักฐานจากหลายประเทศว่าการผูกขาดจะนำมาซึ่งการขึ้นราคา และการไม่ใส่ใจในผู้บริโภค

เราสามารถแก้ไขปัญหาความกำกวมเรื่องการบริหารบริการพื้นฐานซึ่งควรเป็นของรัฐได้ ด้วยการแยกรางรถไฟให้รัฐเป็นเจ้าของ แต่การเดินรถไฟต้องเปิดให้เอกชนแข่งขันกัน

การแข่งขันเช่นนี้จะนำมาซึ่งประสิทธิภาพ แต่ขณะเดียวกันก็สามารถรักษาให้รัฐเป็นเจ้าของสาธารณูปโภคที่ให้บริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้

บีทีเอสและเอ็มอาร์ทีควรเป็นเพียงผู้ให้บริการเดินรถไฟที่ลงทุนในตัวรถไฟ รถไฟของทั้งบีทีเอสและเอ็มอาร์ทีถูกออกแบบให้วิ่งบนรางของอีกฝ่ายได้อยู่แล้ว แก้ไขระบบอาณัติสัญญาณ ทำจุดเชื่อมให้รางรถไฟของทั้งสองบริษัทเป็นเส้นเดียวกัน ดึงรางของทั้งสองบริษัทเป็นของรัฐ เปิดให้เอกชนรายอื่นที่สนใจเดินรถเข้ามาใช้ในเงื่อนไขเดียวกัน กำหนดให้อัตราค่าบริการเท่ากัน เท่านี้เราก็ได้การแข่งขันด้านการคมนาคมที่ไม่สูญเสียความเป็นเจ้าของของรัฐในกรุงเทพฯได้

หลักการเดียวกันต้องประยุกต์ใช้กับการรถไฟแห่งประเทศไทยด้วย กฟท. ต้องกลายเป็นเจ้าของรางรถไฟ และปล่อยให้เอกชนรายอื่นเข้ามาเป็นผู้ให้บริการวิ่งรถไฟ

เปิดรางให้ใครก็ได้ที่พร้อมลงทุน คิดราคาในอัตราที่เท่ากันต่อผู้ประกอบการทุกคน

ผู้ประกอบการเดินรถจะแข่งขันกันเรื่องเวลา นวัตกรรมในตัวรถและในบริการ ความปลอดภัย และในด้านราคา ซึ่งผู้ที่ได้ประโยชน์จากการแข่งขันกันเช่นนี้ก็คือประชาชนผู้บริโภค

เราอาจเห็นผู้ประกอบการรถทัวร์หรือสายการบินเข้ามาลงทุนในการวิ่งรถไฟเพื่อทำให้การซื้อบัตรและการเชื่อมต่อระหว่างรถทัวร์/สายการบินและรถไฟเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ

เราอาจเห็นรถไฟตู้นอนกว้างขวางที่ราคาแพงระยับที่มาพร้อมกับอาหารชั้นหรู ความสะดวกสบายครบครัน และการบริการระดับโลก เพื่อเอาใจนักท่องเที่ยวระดับบน

เราอาจเห็นผู้ประกอบการใหม่ๆที่เสนอรถไฟด่วนด้วยการหยุดน้อยสถานี เพื่อเอาใจลูกค้าบางกลุ่ม หรือเสนอบริการเดินรถไฟพร้อมกับบริการเช่าจักรยานไฟฟ้าใต้สถานีโดยคิดค่าบริการรวมกัน

เราอาจเห็น start-up เกิดขึ้นโดยคนรุ่นใหม่ที่เบื่อกับบริษัทเดินรถเดิมๆ ลงทุนเปิดบริษัทเดินรถไฟใหม่ที่ระดมทุนผ่าน crowdfunding หรือ ICO

นอกจากนี้เรายังสามารถบังคับเงื่อนไขการวิ่งรถไฟและการคมนาคมสาธารณะทุกประเภท (เรือ, รถเมล์, เครื่องบิน, รถไฟ, รถไฟฟ้าในกรุงเทพ) ให้ติดจีพีเอสในทุกยานพาหนะ และเปิดให้ทุกคนนำไปใช้ได้อย่างเสรีและไม่มีค่าใช้จ่าย รวมถึงบังคับให้ทุกบริษัทเปิดตารางเที่ยวและราคาของตนเองกับสาธารณะในรูปแบบเดียวกันที่สมองกลอ่านได้ (program-readable)

ถ้าสร้างฐานข้อมูลชุดนี้และเปิดให้สาธารณะใช้ได้ เราอาจเห็นคนรุ่นใหม่ใช้ big data ชุดนี้สร้าง startup คิดค้น app ที่เปรียบเทียบการเดินทางด้วยวิธีต่างๆแล้วเสนอทางเลือกที่ถูก/เร็วที่สุดให้กับประชาชน อันเป็นการส่งเสริมจิตวิญญาณผู้ประกอบการและเตรียมสังคมให้พร้อมสำหรับโลกใบใหม่ที่กำลังจะมาถึง

เหตุผลทางเศรษฐกิจของการให้รัฐเป็นเจ้าของคือ มันไม่สมเหตุสมผลที่จะมีรางรถไฟจากสุขุมวิทไปลาดพร้าวสองราง เราสามารถหารูปแบบการบริหารจัดการสาธารณสมบัติอื่นๆได้ ที่นอกเหนือจากการให้รัฐหรือเอกชนรายใดรายหนึ่งผูกขาดและจับผู้ใช้บริการเป็นตัวประกัน

ปลดปล่อยรางคืนให้กับประชาชน การผูกขาดสร้างมหาเศรษฐีบนความทุกข์ยากของคนจนมามากพอแล้ว พอกันทีกับการผูกขาดในประเทศไทย