‘ไชยันต์’ แนะ ‘ประยุทธ์’ เปิดหน้า-ประกาศให้ทหารสมัครสมาชิกพรรคได้อย่างเสรี

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า ได้จัดการสัมมนาวิชาการเรื่อง “การเลือกตั้งขั้นต้น : ทางออกการเลือกตั้งหรือทางตันประชาธิปไตย?” โดย ศ.ดร.ไชยยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ไพรมารีโหวต : จุดเปลี่ยนการเมืองไทย?” ตอนหนึ่งว่า ถือเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญไทยที่มีการกำหนดให้มีการทำไพรมารีโหวต แต่ไม่รู้ว่ามาจากความต้องการของนักการเมืองและประชาชนหรือไม่ แต่มาจากกฎหมาย ซึ่งอาจจะถือว่าผิดธรรมชาติของการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะแม้จะคิดการพัฒนาในกฎหมายได้แต่หากกลไกยังไม่พร้อมก็อาจจะไม่สามารถทำได้ ทั้งนี้ การทำไพรมารีโหวตต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของพรรคการเมือง และความพร้อมของประชาชนด้วย แม้ในแง่การทำไพรมารีโหวตจะทำให้เห็นได้ว่ากฎหมายส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ตนเชื่อว่าหากกฎหมายบังคับใช้แล้วข้าราชการส่วนใหญ่ ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร จะไม่สมัครเป็นสมาชิกพรรค จะไม่เปิดหน้าไปทำไพรมารีโหวต เพราะกลัวว่าหากมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วอยู่พรรคตรงข้ามของพรรคที่ตนเป็นสมาชิก อาจจะมีปัญหาเรื่องงานเพราะกลัวจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และอาชีพการงานของตัวเอง ซึ่งนี่คือผลกระทบ ขณะที่ประชาชนบางกลุ่มที่อาจจะได้รับผลเสียจากการเปิดหน้าเป็นสมาชิกพรรค อาทิ ดีเจสถานีวิทยุ อาจจะไม่กล้าไปสมัครเป็นสมาชิกพรรค  การเกิดขึ้นในการทำไพรมารีโหวตครั้งแรก ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมน้อยลง จะเหลือแค่กลุ่มคนวงใน กลุ่มญาติพี่น้องของผู้สมัคร

“หลังจากมีพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรครวมพลังประชาชาติไทยขึ้นมา ผมเริ่มเปลี่ยนสมมุติฐาน เพราะปรากฏการณ์พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมพลังประชาชาติไทยนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่จะได้เป็นรัฐบาล ซึ่งจะทำให้ข้าราชการจำนวนมากเปิดหน้าเชียร์พรรคพลังประชารัฐ เพื่อหวังผลพลอยได้หลังการเลือกตั้ง ทั้งนี้ หากอยากให้กฎหมายใช้ได้ผลจริงๆ คนที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ควรจะต้องเปิดหน้า ประกาศตัวทำตามกฎหมายโดยการสมัครเป็นมาชิกพรรคใดพรรคหนึ่ง และไปทำตามกระบวนการไพรมารีโหวต และอีกคนหนึ่งที่ควรไปทำไพรมารีโหวตก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะต้องเปิดหน้าและควรประกาศให้ทหารทุกเหล่าทัพมีโอกาสเปิดหน้าสมัครสมาชิกพรรคได้อย่างเสรี หากไม่ทำแบบนี้โอกาสที่กฎหมายนี้จะดึงดูดใจให้ประชาชนเข้าไปสมาชิกพรรคอย่างกว้างขวางก็จะยาก แต่ก็เชื่อว่าในช่วงแรกการใช้ปัญหาจะเยอะ แต่หากใช้ไปเรื่อยๆ ความขัดแย้งทางการเมืองลดลง ประชาชนที่ไม่เข้าร่วมรู้สึกว่าเสียผลประโยชน์ในการเลือกตัวผู้สมัคร ก็จะทำให้ปัญหาลดลง” ศ.ดร.ไชยยันต์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการปาฐกถามีผู้ถามคำถามว่าหลังจากประชาชนเลือกสมาชิกพรรคแต่อำนาจของกรรมการบริหารพรรคก็ยังมีสิทธิเลือกต่างจากประชาชน โดยนายไชยยันต์กล่าวว่า การเลือกผู้สมัคร ควรมีอำนาจตัดสินใจจากหลายส่วน ทั้งหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค และสมาชิกพรรค เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลกันและกัน เพราะการให้ประชาชนเสียงข้างมากกำหนดผู้สมัครนั้นมีทั้งข้อดีข้อเสีย เพราะมีความกังวลกันว่าอาจจะมีการซื้อเสียงตั้งแต่ขั้นตอนการทำไพรมารีโหวตและซื้อในตอนที่มีการเลือกตั้งอีกครั้ง ดังนั้น จึงต้องให้แต่ละฝ่ายดุลอำนาจกัน อย่างไรก็ตาม หากใช้ระบบไพรมารีโหวตในพื้นที่ที่เจ้าพ่อหรือผู้มีอิทธิพลมีความแน่นแฟ้นกับประชาชน ก็จะทำให้เจ้าพ่อหรือผู้มีอิทธิพลมีอำนาจในการชี้นำมากขึ้น ส่วนประชาชนที่ต้องการล้มเจ้าพ่อหรือผู้มีอิทธิพลนั้นก็จะต้องใช้เวลาต่อสู้หลายปี