กรมอุทยานฯปิด ‘ถ้ำหลวงฯ’ ไม่มีกำหนด รอหน้าแล้งส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจเต็มรูปแบบ

กรมอุทยานฯปิด ‘ถ้ำหลวงฯ’ ไม่มีกำหนด รอหน้าแล้งส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจเต็มรูปแบบ ชงแผนฟื้นฟูตั้งงบพัฒนากว่า 42 ล. เปิดฟังความเห็นในพื้นที่ 25 ก.ค.นี้ ‘อธิบดีอุทยานฯ’ตั้ง กก.พัฒนาพื้นที่ถ้ำดูแลให้ถูกหลักวิชาการ พร้อมสั่งขันน็อตทุกพื้นที่ตรวจสอบแหล่งท่องเที่ยวอันตรายแจ้งเตือนให้ ปชช.รู้

เมื่อวันที่  11 กรกฎาคม นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขณะนี้ได้ปิดถ้ำหลวงแล้วตั้งแต่เวลา 10.00 น. โดยห้ามผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปโดยเด็ดขาด พร้อมกันนี้ยังเตรียมการฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิมมากที่สุด ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เริ่มทยอยขนอุปกรณ์ต่างๆ ออกจากถ้ำหลวงแล้ว และบางส่วนที่ยังไม่สามารถขนออกได้ เนื่องจากระดับน้ำภายในถ้ำจะกลับมาสูงอีกซึ่งต้องเก็บไว้ก่อน และรอเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจในหน้าแล้งดูว่าสภาพภายในถ้ำมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก และจะทำการฟื้นฟูทั้งระบบต่อไป โดยยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะใช้ระยะเวลาเท่าไร ขณะนี้ได้จัดเวรยามเฝ้าปากถ้ำตลอด 24 ชม. และในอนาคตจะห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวหรือเจ้าหน้าที่เข้าไปภายในส่วนลึกของถ้ำ หากไม่ได้รับการอนุญาตก่อน

นายจงคล้ายกล่าวว่า ส่วนแผนฟื้นฟูและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีทั้งแผนงานเร่งด่วน และแผนระยะยาวที่อาจต้องใช้เวลา ยังไม่สามารถระบุแน่ชัดได้ โดยจะต้องมีการสำรวจสภาพทั้งหมดก่อนนำมาประเมินเพื่อดำเนินการ โดยขณะนี้มีการทำแผนเสนอให้กับ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แล้ว มีรายละเอียดเรื่องวงเงินงบประมาณคร่าวๆ ไว้ และการทำงานต้องมีผู้เชี่ยวชาญจากกรมทรัพยากรธรณี กรมทรพยากรน้ำบาดาลและนักวิชาการด้านถ้ำ มาร่วมในการชี้แนะแผนถ้ำหลวง

รองอธิบดีกรมอุทยานฯกล่าวอีกว่า สิ่งที่ทำได้ทันทีคือระบบฝายที่นำท่อต่อทางน้ำ ต้องรื้อท่อออกทั้งหมด เพื่อให้ระบบน้ำไหลกลับเข้าถ้ำหลวงฯ โดยในส่วนนี้จะมีราษฎรจิตอาสาในพื้นที่เข้ามาร่วมด้วย  ส่วนโพรงที่สำรวจเป็น 100 โพรง มีแค่ 3 โพรงขนาดใหญ่ที่มีการเจาะสำรวจ หลังจากนี้ ต้องอุดกลับไปสู่สภาพเดิมซึ่งทำได้ไม่ยาก ซึ่งต้องให้กรมทรัพยากรธรณีมาช่วยดำเนินการด้วย  รวมทั้งต้องเร่งกำหนดโซนนิ่งถ้ำ และเขตบริการนอกถ้ำให้ชัดเจน กำหนดการเข้า-ออก การติดตั้งระบบตรวจวัดระดับน้ำ การเตือนภัยต่อไป ส่วนการสร้างพิพิธภัณฑ์หรืออนุสาวรีย์บริเวณถ้ำตามที่นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผวจ.เชียงรายเสนอ นั้น พล.อ.สุรศักดิ์ได้เตรียมแผนไว้แล้วซึ่งจะต้องทำทั้งระบบ เท่าที่ทราบจะมีการนำแผนฟื้นฟูถ้ำมาเปิดรับฟังความคิดเห็นกับประชาชนในพื้นที่ในวันที่ 25 ก.ค.นี้ เราจะได้มั่นใจว่าสามารถดำเนินการได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งฟื้นฟูถ้ำหลวง ให้ระบบนิเวศกลับมาเป็นปกติ และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมีมาตรการดูแลความปลอดภัยอย่างเป็นระบบนั้น กรมอุทยานฯได้นำเสนอร่างแนวทางการฟื้นฟูถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต่อ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรฯ โดยในระยะเร่งด่วน ด้านบริหารจัดการ จะมีการแบ่งเขตการบริหารจัดการให้ชัดเจน ทั้งในส่วนของเขตบริการ และเขตหวงห้าม พื้นที่ป่าโดยรอบที่มีความเปราะบางต้องมีการกำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์และการเข้า-ออกภายในถ้ำหลวงฯ พร้อมทั้งจัดให้มีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเฉพาะด้าน เจ้าหน้าที่กู้ภัย และจัดเวรยามเพิ่มขึ้น ส่วนด้านการรักษาความปลอดภัยจะมีการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดทั่วทั้งบริเวณแหล่งท่องเที่ยว ปรับปรุงระบบไฟฟ้าส่องสว่าง และจัดทำแผนช่วยเหลือฉุกเฉิน พร้อมทั้งมีการจัดทำระบบป้ายสื่อความหมายต่างๆ การติดตั้งระบบวัดระดับน้ำและการแจ้งเตือน จัดทำรั้วหรือประตู บริเวณทางเข้าไปภายในถ้ำหลวงฯ เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำอีก

ส่วนการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ที่ดำเนินการค้นหาและภู้ภัยให้กลับคืนสู่สภาพเดิมอย่างต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน จะมีการฟื้นฟูปลูกต้นไม้ให้กลับสู่สภาพเดิม ทั้งในบริเวณที่ปรับปรุงเป็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์ 2 จุด บริเวณหลุมหรือปล่องที่มีการเจาะสำรวจ และบริเวณที่มีการปิดกั้นเส้นทางน้ำ และฝายจำนวน 5 แห่ง สำหรับมาตรการในระยะยาวจะมีการจัดตั้งศูนย์บริการนักท่องเที่ยวและรักษาความปลอดภัย ให้ครอบคลุมทุกด้าน  มีการปรับปรุงพื้นที่ พัฒนาถนนลาดยางแบบมีไหล่ทางและรางน้ำภายในและภายนอกแหล่งท่องเที่ยววนอุทยานถ้ำหลวงฯ ระยะทาง 10 กม.พร้อมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เป็นต้น โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณในการดำเนินการกว่า 42 ล้านบาท

ทั้งนี้ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ ได้ออกคำสั่งกรมอุทยานฯ ลงวันที่ 10 ก.ค.เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ถ้ำ มีนายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานฯ เป็นประธาน โดยมีตัวแทนนักวิชาการ ตัวแทนกรมทรัพยากรธรณี และกรมอุทยานฯ ร่วมเป็นกรรมการ เพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์ วางแผน กำหนดแนวทาง ควบคุม ดูแล และติดตาม วางแผนการใช้ประโยชน์และขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ถ้ำที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานฯ ให้ได้รับการบริหารจัดการ พัฒนาไปในแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิชาการ นอกจากนั้น นายธัญญาได้มีหนังสือเวียน ลงวันที่ 10 ก.ค.ถึง ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1-16 ขอให้สำรวจ ตรวจสอบแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าและวนอุทยานแห่งชาติในความรับผิดชอบ หากพบว่ามีสถานที่ใดหรือบริเวณใดมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว ให้ปิดประกาศและประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทราบโดยทั่วกัน และรายงานให้กรมอุทยานฯ ทราบ รวมทั้งพิจารณาปิดแหล่งท่องเที่ยวและพักแรมในอุทยานฯ เขตรักษาพันธ์ฯ เขตห้ามล่าฯ และวนอุทยานฯ ประจำปี ตามแนวทางปฏิบัติของกรมอุทยานฯต่อไป