นายกฯ เตรียมเยือนศรีลังกา 12-13 ก.ค. กระชับสัมพันธ์ทวิภาคี-จ่อเปิดเจรจาเอฟทีเอ

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีกำหนดการเดินทางเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 12-13 กรกฎาคม 2561 ตามคำเชิญของนายไมตรีปาละ สิริเสนา ประธานาธิบดีสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยและศรีลังกาในด้านต่างๆ

พ.อ.อธิสิทธิ์ระบุว่า ระหว่างการเยือนครั้งนี้จะมีการแถลงข่าวร่วมซึ่งมีสาระสำคัญเพื่อส่งเสริมและติดตามความร่วมมือทวิภาคีไทย-ศรีลังกา เช่น ด้านการเมือง เศรษฐกิจ ความร่วมมือทางวิชาการ การเกษตร ประมง วัฒนธรรม ศาสนา การท่องเที่ยว และความร่วมมือระดับภูมิภาค โดยแบ่งสาระสำคัญเป็น 4 สาขา ประกอบด้วย 1.สาขาการค้าและการลงทุน จะมีการเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกัน เป็น 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2563 พร้อมทั้งรักษาดุลการค้าระหว่างกันรวมถึงจะเห็นพ้องในการส่งเสริมการลงทุน เปิดการเจรจาเพื่อทำความตกลงด้านการค้าเสรี(เอฟทีเอ)ระหว่างไทยและศรีลังกา จะมีการเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ

2. สาขาการพัฒนา จะมีการเป็นสักขีพยานในการลงนามแผนการดำเนินโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาชุมชนต้นแบบอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในศรีลังกา

3.สาขาการเกษตร ซึ่งประธานาธิบดีศรีลังกาได้แสดงความขอบคุณที่รัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการด้านการทำฝนหลวง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ และชลประทานการเกษตรในศรีลังกา และจะมีการแสดงความยินดีต่อความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรของทั้งสองประเทศ อีกทั้งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดการประชุมคณะทำงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเกษตร

และ 4.สาขาอื่นๆ ซึ่งจะมีการเป็นสักขีพยานในการลงนามเอกสารต่างๆเพิ่มเติม โดยเอกสารแรกคือสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำความผิด และความร่วมมือว่าด้วยการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา ซึ่งเรื่องนี้ คณะรัฐมนตรีของไทยได้ให้ความเห็นชอบไปแล้วเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา เอกสารที่สอง คือบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าพื้นฐานระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับกระทรวงอุตสาหกรรมพื้นฐานศรีลังกา และเอกสารสุดท้ายคือ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งซีลอน