ย่อยข่าวเศรษฐกิจ : ห่วงอสังหาฯ ขายไม่ออกเพียบ! / ลุยเคลียร์ปัญหาสนามบินแออัด / ดีเดย์เปิดบริการระบบตั๋วร่วม

แฟ้มข่าว

ดีเดย์เปิดบริการระบบตั๋วร่วม

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 22 มิถุนายน รฟม. ได้เปิดตัวบัตรแมงมุม ซึ่งเป็นบัตรที่ให้บริการภายใต้ระบบตั๋วร่วมอย่างเป็นทางการ และจะทำการแจกจ่ายบัตรแมงมุมจำนวน 2 แสนใบให้กับประชาชนทั่วไป โดยประชาชนสามารถมาขอรับบัตรได้ที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสารในทุกสถานีของรถไฟฟ้าสายสีม่วงตั้งแต่สถานีคลองบางไผ่ถึงสถานีเตาปูน โดยนำบัตรประชาชนไปลงทะเบียนขอรับบัตร 1 คนต่อ 1 บัตร เพื่อป้องกันการรับซ้ำ โดยในระยะแรกบัตรแมงมุมจะใช้บริการได้กับรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีน้ำเงินเท่านั้น จากนั้นประมาณเดือนตุลาคม 2561 จะขยายการใช้บัตรไปยังรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์และรถเมล์ของ ขสมก. ทั้งนี้ ในส่วนของการเปิดใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐกับระบบขนส่งสาธารณะนั้น รฟม.ได้ปรับปรุงแก้ไขระบบเพื่อสามารถใช้กับระบบรถไฟฟ้าได้แล้ว เบื้องต้นตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม-30 กันยายน 2561 รฟม.จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิใช้ขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินได้

ห่วงอสังหาฯ ขายไม่ออกเพียบ

นายวิธาน เจริญผล ผู้อำนวยการอาวุโสคลัสเตอร์ธุรกิจบริการ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ปีนี้มีทิศทางปรับตัวที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมต่างๆ ความต้องการที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นจากครอบครัวที่มีขนาดเล็กลง โดยประเมินว่าตลาดกรุงเทพฯ และปริมณฑลปีนี้จะมีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ 4.59 แสนล้านบาท เป็นคอนโดมิเนียม 46% บ้านเดี่ยว 23% ทาวน์เฮาส์ 21% และอีก 10% เป็นบ้านแฝดและอาคารพาณิชย์ ซึ่งมูลค่าการโอนเติบโตขึ้น 7% จากปี 2560 ที่มีมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ 4.28 แสนล้านบาท ด้านจำนวนยูนิตที่จะมีการโอนกรรมสิทธิ์ปีนี้อยู่ที่ 1.69 แสนยูนิต เพิ่มขึ้น 3% จากปี 2560 ที่ 1.63 แสนยูนิต ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่างจังหวัดคาดว่าจะขยายตัวราว 2-3% โดยเริ่มเห็นตลาดที่อยู่อาศัยในหัวเมืองหลักปรับดีขึ้นและจำนวนคอนโดมิเนียมเหลือขายในต่างจังหวัดลดลง ทั้งนี้ ปัจจัยที่ต้องติดตามคือความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งจำนวนสินค้าคงค้างเหลือขายมากกว่า 1.76 แสนยูนิต แบ่งเป็น คอนโดมิเนียม 40% บ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์กลุ่มละ 20% ซึ่งกรณีที่ไม่มีการเปิดโครงการใหม่ คาดว่าจะระบายสต๊อกได้ในช่วง 1-2 ปี

ลุยเคลียร์ปัญหาสนามบินแออัด

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยกรณีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้ ทอท.เร่งแก้ปัญหาความแออัดของผู้โดยสารภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานเชียงใหม่ว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. ได้เห็นชอบในหลักการ โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะปรับย้ายจุดตรวจค้นสัมภาระผู้โดยสารภายในประเทศ จากเดิม ROW A และ B ไปอยู่บริเวณทางออกขึ้นเครื่องบิน A และ B เพิ่มจุดตรวจจาก 6 จุดเป็น 14 จุด จะสามารถเปิดให้บริการได้เดือนสิงหาคมนี้ ส่วนท่าอากาศยานดอนเมืองเตรียมก่อสร้างอาคารกรุ๊ปเช็กอินระหว่างประเทศ ขนาด 2 ชั้น บริเวณลานจอดรถบัส ระหว่างอาคารสำนักงาน และอาคาร 1 ระหว่างประเทศ ใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท จะใช้เป็นจุดเช็กอินสำหรับกรุ๊ปทัวร์อย่างเดียวก่อน คาดเปิดให้บริการก่อนเทศกาลสงกรานต์เดือนเมษายน 2562 ในระยะยาวปี 2562 จะติดตั้งสายพานลำเลียงกระเป๋าเพื่อให้บริการครบวงจรสำหรับกรุ๊ปทัวร์ สำหรับท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีแผนก่อสร้างอาคารกรุ๊ปเช็กอิน 5-6 ชั้น จะเปิดประมูลแบบพีพีพี คาดเปิดประมูลต้นปี 2562 และเปิดให้บริการได้ปี 2564

พนักงานไทยกังวลทักษะดิจิตอล

นายเดวิด โฮป ประธานบริษัท เวิร์กเดย์ เอเชีย แปซิฟิค กล่าวว่า ได้ร่วมกับบริษัทการตลาดระดับโลกไอดีซี สำรวจความคิดเห็นลูกจ้างจำนวน 1,404 คน ใน 8 ประเทศทั่วภูมิภาค ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเกาหลี เพื่อประเมินทัศนคติและความพร้อมที่มีต่อยุคเศรษฐกิจดิจิตอล รวมถึงการรับรู้เกี่ยวกับผลกระทบที่อาชีพของตนเองได้รับจากการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิตอล โดยผลการศึกษาชี้ว่าประเทศไทยมีพนักงานที่มีความสุขมากที่สุดในเอเชียแปซิฟิก ทั้งนี้ พนักงานชาวไทยผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 1 ใน 4 คิดเป็น 29% มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนงานภายในหนึ่งปีนี้ สาเหตุหลักที่ดึงดูดในการเปลี่ยนงานในประเทศไทย ประกอบด้วย เงินเดือน/ผลตอบแทน โอกาสในการทำงานที่มากกว่า และสวัสดิการในการทำงาน โดยผลสำรวจยังพบว่าไทยคือ 1 ใน 3 ประเทศแรกที่ขาดความมั่นใจในทักษะด้านดิจิตอล คิดเป็น 45% รองมาจากญี่ปุ่นและเกาหลี และ 40% รู้สึกว่าหัวหน้าของพวกเขาไม่มีมาตรการเชิงรุกในการช่วยให้พวกเขามีส่วนร่วมกับความเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิตอล

ปั้น “พหลโยธิน” ขึ้นสมาร์ทซิตี้

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในงานสัมมนาความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นสร้างเครือข่ายสมาร์ทซิตี้อาเซียนว่า ในปี 2561 รัฐบาลไทยจะเร่งพัฒนาเมืองอัจฉริยะเร่งด่วนในพื้นที่ 7 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยเลือกพัฒนาพื้นที่นำร่องบางส่วนของแต่ละจังหวัด สำหรับกรุงเทพมหานครเลือกพัฒนาพื้นที่พหลโยธินให้เป็นสมาร์ทซิตี้ภายใน 3 ปี คาดใช้งบประมาณกว่า 40,000 ล้านบาท โดยจะพัฒนาภายใต้ 6 อัตลักษณ์ ได้แก่ ชุมชนอัจฉริยะ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ คมนาคมขนส่งอัจฉริยะ พลังงานอัจฉริยะ เศรษฐกิจอัจฉริยะ และการบริหารจัดการอัจฉริยะ ทั้งนี้ ที่เลือกพัฒนาพหลโยธินเป็นพื้นที่นำร่องเนื่องจากมีจุดแข็งสำคัญ 2 ด้าน คือ ด้านคมนาคมขนส่ง มีรถไฟทางราง รถไฟฟ้า รถบัส รถตู้ และแท็กซี่ และด้านธุรกิจการค้า ซึ่งการพัฒนาพื้นที่นี้จะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูง แต่ความท้าทายคือ การแก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัดต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด

โดยงบประมาณรวมที่ชัดเจนจะสรุปอีกครั้งภายในเดือนกรกฎาคมนี้