‘พรสันต์’ ชี้ สภาขุนนางอังกฤษมาจากแต่งตั้งก็จริง แต่อำนาจน้อยกว่าสภาสามัญมาก

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

วันนี้ (24 มิ.ย.) ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊กแสดงความเห็น เรื่องที่มาของวุฒิสภาในประเทศไทย โดยระบุว่า

เวลาเราพูดถึง “ที่มาของวุฒิสภาในประเทศไทย” สำหรับคนที่เสนอ หรือสนับสนุนให้มาจากวิธีการแต่งตั้ง หรือกระบวนการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนนั้น บ่อยครั้งที่ผมได้ยินว่าชอบไปกล่าวอ้างถึงประเทศอังกฤษว่าสมาชิกสภาวุฒิสภา หรือสภาขุนนาง (House of Lords) เขาก็มาจากการแต่งตั้ง ไม่เห็นจะแปลกที่เราจะทำไม่ได้ การกล่าวเช่นนี้อาจไม่ค่อยจะถูกต้องมากนักในทางหลักการและความเป็นจริง

ยังมิพักที่จะพูดถึงว่าในประเทศอังกฤษเองเขามีการเสนอให้มีการปฏิรูปสภาขุนนางด้วยการปรับที่สมาชิกมาจากการเลือกตั้ง หรือการลดสัดส่วนสมาชิกบางจำพวกลงแล้ว ฯลฯ ประเด็นหนึ่งที่ผมอยากจะเน้นย้ำมากๆ ก็คือ จริงอยู่ว่าหากกล่าวโดยทั่วๆ ไป ขณะนี้ที่มาของสมาชิกสภาขุนนางของเขาจะมาจากการแต่งตั้ง “แต่เรื่องของอำนาจหน้าที่ของสภาขุนนางนั้นมีน้อยกว่าสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาสามัญ (House of Commons)”

ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว เรื่องที่มาของผู้ดำรงตำแหน่ง หรือผู้ใช้กับอำนาจนั้นจะมีความสัมพันธ์กับเรื่องของอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่เสมอ เพราะทุกอย่างจะเกี่ยวพันกับเรื่องหลักของความรับผิด (Responsibility) ด้วย หากอธิบายให้เข้าใจได้โดยง่ายเลยก็คือ หากที่มามีจุดเชื่อมโยงจากประชาชนมากเท่าไหร่ อำนาจก็มีได้มากขึ้นเท่านั้น ในทางกลับกัน หากที่มามีจุดเชื่อมโยงจากประชาชนน้อย อำนาจก็ต้องลดน้อยถอยลงตามไปด้วย ทั้งหมดนี้เป็นไปตาม “หลักห่วงโซ่แห่งความชอบธรรม” (Principle of the Chain of Legitimacy) ดังนั้น กรณีสมาชิกสภาขุนนางของประเทศอังกฤษที่มาจากการแต่งตั้งเขาจึงมีอำนาจน้อยกว่าสมาชิกของสภาสามัญ อาทิ การไม่มีอำนาจในการพิจารณากฎหมายทางการเงิน การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฯลฯ ซึ่งก็เป็นไปตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ผมอธิบายไปแล้วในข้างต้น จนเป็นที่มาของการเรียกกันในหมู่นักกฎหมายรัฐธรรมนูญอังกฤษว่าจริงๆ แล้วระบบรัฐสภาอังกฤษคือ ระบบสภาเดียวทางความเป็นจริง (De Facto Unicameralism) (นัยคือ มีแต่สภาผู้แทนราษฎร หรือสภาสามัญเพียงสภาเดียว)

ฉะนั้นแล้ว การกล่าวถึงระบบที่มาของสมาชิกวุฒิสภา หรือสภาขุนนางของอังกฤษว่ามาจากการแต่งตั้งโดยไม่กล่าวถึงอำนาจที่มีอยู่จึงมีลักษณะการกล่าวเฉพาะเรื่องเชิงรูปแบบซึ่งอาจทำให้เข้าใจระบบรัฐสภาของอังกฤษและหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญอังกฤษคลาดเคลื่อนอย่างมีนัยสำคัญได้ครับ ผมจึงขออนุญาตอธิบายหลักการที่ถูกต้องครับผม