เมดอินไชน่า ที่มาสงครามการค้าล่าสุด

เมื่อ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าจากจีนรวมแล้วกว่า600 รายการ คิดเป็นมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้จีนประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกากว่า 800 รายการ คิดเป็นมูลค่าพอ ๆ กันในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา

พิกัดอัตราภาษีใหม่ที่ระดับ25 เปอร์เซ็นต์ตามประกาศดังกล่าวของทั้ง 2 ประเทศ กำหนดจะมีผลในวันที่ 6 กรกฎาคมที่จะถึงนี้

ซึ่งเท่ากับว่าทั้ง 2 ฝ่ายมีเวลาเพียง3 สัปดาห์เท่านั้นในการหาทางออกสำหรับความขัดแย้งทางการค้าครั้งใหม่นี้

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ กลุ่มสินค้าเป้าหมายที่ตกเป็นเป้าขึ้นภาษีของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ คือกลุ่มสินค้าจำพวกเครื่องจักรกลและอิเล็กทรอนิกส์, โลหะ, เคมีภัณฑ์ และอุปกรณ์เพื่อการคมนาคมขนส่ง ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าสำคัญของจีน ในอันที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศตนออกไปให้รุดหน้ากลายเป็นมหาอำนาจทางอุตสาหกรรมในอนาคต

เป้าหมายดังกล่าวนั้น สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนประกาศเอาไว้เมื่อปี 2015 ตั้งเป้าจะทำให้จีนกลายเป็น “ผู้นำโลก” ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ซึ่งรวมถึงจักรกลระดับไฮเอนด์, อุตสาหกรรมการบิน และอุปกรณ์ระบบรางระดับก้าวหน้า ภายใต้คำขวัญ “เมดอินไชน่า 2025” หลังจากที่ทุกวันนี้จีนส่งออกผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ระดับตั้งแต่ มิดเดิล-เทค เรื่อยไปจนถึง ไฮ-เทค ไปยังหลายประเทศ

ส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลของทรัมป์ มองว่าจีนคือ “คู่แข่งในเชิงยุทธศาสตร์” ด้านเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญของตนในอนาคต

น่าสนใจเช่นกัน ที่กลุ่มสินค้าของสหรัฐอเมริกาซึ่งตกเป็นเป้าขึ้นภาษีของจีน เป็นกลุ่มสินค้าพวกอาหารและสินค้าเกษตรเป็นหลัก เห็นได้ชัดว่าต้องการสร้างผลกระทบให้มากที่สุดกับกลุ่มรัฐที่ผลิตสินค้าเหล่านี้ ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของทรัมป์และพรรครีพับลิกัน ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาคองเกรสกลางวาระที่จะมีขึ้นในปลายปีนี้

นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าหลายคนมองตรงกันว่า ความคิดเบื้องหลังการทำสงครามการค้ากับจีนหนนี้ของสหรัฐอเมริกา ดูแปลก ๆ อยู่บ้าง และไม่น่าจะสัมฤทธิผลอย่างที่ต้องการ

แอนดรูว์ โพล์ค แห่งบริษัท ไทรวิอุมไชน่า บริษัทที่ปรึกษาในจีน บอกว่า ถ้าหากต้องการจะยับยั้งพัฒนาการของอุตสาหกรรมจีนให้ได้ผล ควรระงับการส่งออกสินค้าที่จำเป็น อย่างเช่นเซมิคอนดักเตอร์ ให้จีน จะส่งผลสะเทือนมากกว่ามาก ด้วยเหตุผลที่ว่า จีนยังมีอีกทั้งโลกเป็นตลาดรองรับสินค้าเหล่านี้ของตน หากคนอเมริกันไม่ซื้อ

หลุยส์ คูอิจส์ อดีตนักวิจัยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่ทำงานอยู่กับบริษัทวิจัยออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ ในเวลานี้ ชี้ให้เห็นว่า การบีบบังคับให้จีนยกเลิกนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมของตนเองด้วยกำแพงภาษีครั้งนี้นั้นไม่มีทางเป็นผล เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญต่ออนาคตของจีนมากเกินไปที่จะมายกเลิกกันได้ง่าย ๆ และเห็นด้วยกับนักวิเคราะห์อีกหลายคนที่เชื่อกันว่า ยิ่งถูกบีบคั้นกดดันมาก ๆ เข้า ยิ่งกลายเป็นแรงผลักดันให้จีนเร่งความเร็วในการพัฒนาอุตสาหกรรมของตนมากยิ่งขึ้นไปอีก และทำให้จีนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในแง่ของนวัตกรรมและที่มาของแหล่งวัตถุดิบที่จำเป็นให้เร็วที่สุด

หนทางที่ดีที่สุดในการกดดันให้จีนดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมของตนอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกับประเทศอื่น ๆ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา แทนที่จะใช้การลักลอบขโมยสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา หรือใช้นโยบายบังคับให้มีการถ่ายโอนเทคโนโลยีเหมือนที่ผ่านมา ก็คือ สหรัฐอเมริกาต้องร่วมมือกับพันธมิตรหลาย ๆ ประเทศที่มองเห็นปัญหาเดียวกันนี้ ดำเนินการจึงจะได้ผล

ปัญหาก็คือ ในทางการค้า สหรัฐอเมริกาแทบไม่หลงเหลือพันธมิตรอยู่อีกแล้ว คงจำกันได้ว่า เมื่อไม่นานมานี้ ทรัมป์เปิดศึกกับสหภาพยุโรป (อียู) แคนาดา และเม็กซิโก ว่าด้วยเรื่องภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม จนกลายเป็นเรื่องฮือฮาบนเวทีการประชุมสุดยอด 7 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำมาแล้ว

มีรายงานข่าวชนิดที่ไม่มีการยืนยันว่า หลังจากประกาศเปิดศึกกับจีนครั้งล่าสุดนี้ ทรัมป์ยกหูโทรศัพท์ติดต่อไปยังประธานาธิบดีเอ็มมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศส เรียกร้องให้อียูเปิดเจรจาเพื่อทำความตกลงการค้ากับสหรัฐอเมริกา

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอียูที่เปิดเผยเรื่องนี้ออกมา ระบุว่า ท่าทีของอียูยังคงเหมือนเดิม นั่นคือ จะไม่เจรจาใด ๆ กับสหรัฐอเมริกาจนกว่า สหรัฐอเมริกาจะยกเว้นการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมให้กับอียูแบบไม่มีกำหนดเสียก่อน จึงจะมีการเจรจากันเกิดขึ้นได้

ท่าทีนี้ เป็นท่าทีเดียวกับจีน ซึ่งพร้อม ๆ กับที่ประกาศมาตรการตอบโต้สหรัฐอเมริกาในครั้งล่าสุดนี้แล้ว ก็ประกาศยกเลิกความตกลงทางการค้าที่เกิดขึ้นในการเจรจาซึ่งกันและกัน 3 รอบก่อนหน้านี้ไปทั้งหมดอีกด้วย

ดังนั้น หากสหรัฐอเมริกายังมิเปลี่ยนแปลงท่าทีใด ๆ เดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ โลกอาจได้เห็นสงครามการค้าเกิดขึ้น และพร้อมที่จะลุกลามออกเป็นระลอกที่สองและที่สามติดตามมา