เทศมองไทย : ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ในทัศนะ “ไอเอ็มเอฟ”

ผู้รู้เคยสั่งสอนเอาไว้ว่า เรื่องอื่นใดอาจพักไว้หรือละความสนใจไปสักระยะได้

แต่เรื่องปากเรื่องท้องเป็นเรื่องสำคัญ ละเว้นเพิกเฉยนานไปอาจเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตเอาได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคใหม่ที่ทุกอย่างไปไวมาไว รวดเร็วเหลือหลายจนไล่ตามแทบไม่ทัน

ไอเอ็มเอฟ หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ จัดทำรายงานประเมินภาวะเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคทั่วโลกออกมาเผยแพร่เป็นประจำทุกปี ปีละสองครั้ง

ในส่วนของภาพรวมระดับภูมิภาคนั้นเผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนพฤษภาคม

แต่เว็บไซต์ไอเอ็มเอฟเพิ่งเผยแพร่การประเมินภาพรวมรายประเทศที่เรียกว่า “ไอเอ็มเอฟ คันทรี โฟกัส” ออกมาเมื่อ 8 มิถุนายนที่ผ่านมานี่เอง

ในรายงานการประเมินรายประเทศที่ไอเอ็มเอฟทำออกมาให้ดูง่าย เข้าใจง่ายกว่าเดิมมากนั้นระบุเอาไว้ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยนั้นกำลังดีขึ้นต่อเนื่อง อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.9 เปอร์เซ็นต์โดยประมาณ ซึ่งถือเป็นระดับการขยายตัวต่อปีที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา

แรงเหวี่ยงของการขยายตัวดังกล่าวนี้ไอเอ็มเอฟคาดว่าจะต่อเนื่องต่อไปทั้งในปี 2018 และปี 2019 โดยแรงหนุนสำคัญจากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าจากโรงงานการผลิต

ในขณะที่การลงทุนและการบริโภคภายในประเทศได้รับการคาดหมายว่าจะฟื้นตัวอย่าง “ค่อยเป็นค่อยไป”

แต่ไอเอ็มเอฟยังคงเห็นว่าการขยายตัวที่ว่านั้นยังไม่กว้างขวางทั่วถึง และ “ไม่ยังประโยชน์ต่อทุกๆ คน”

เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวมั่นคงและเอื้อประโยชน์ต่อทุกคนจริงๆ ไอเอ็มเอฟแนะให้ “ปฏิรูป” สิ่งสำคัญทางเศรษฐกิจบางประการ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับอุปสงค์หรือความต้องการภายในประเทศ และเตรียมการเพื่อรองรับกับสภาวะสูงวัยของประชากร

ไอเอ็มเอฟเล็งเห็นว่าภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด และเป็นที่มาของดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอยู่ที่ 10.6 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในปี 2017

โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากกว่า 34 ล้านคน

ปัญหาอยู่ตรงที่ประโยชน์จากการนี้ไปกระจุกตัวอยู่เพียงแค่ “ทัวริสต์ ฮ็อตสปอต” เพียง 2-3 จุดเท่านั้นเอง

นอกจากนั้น ยังไม่ส่งผลเอื้อให้ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ขยายตัวตามไปด้วย

ไอเอ็มเอฟเห็นว่า ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของเศรษฐกิจไทยอยู่ตรงที่หนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ว่าทำไมประชาชนไทยถึงยังคงไม่จับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

หนี้สินระดับสูงที่ว่านี้ ไอเอ็มเอฟระบุว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายกระตุ้นการเติบโตด้วยการส่งเสริมการใช้จ่ายด้วยเครดิต

อย่างเช่น โครงการเงินกู้เพื่อรถคันแรก เป็นต้น ดังนั้น เมื่อมีการยกเลิกไปแล้ว ประกอบกับทางธนาคารแห่งประเทศไทยใช้มาตรการจำกัดการปล่อยกู้ส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ซึ่งกำลังส่งผล ภาวะถูกถ่วงจากหนี้สินครัวเรือนก็น่าจะลดลงไปเรื่อยๆ

ในความเห็นของไอเอ็มเอฟเชื่อว่าการเพิ่มการลงทุนภาครัฐสามารถช่วยส่งเสริมให้เกิดอุปสงค์ภายในประเทศขึ้นได้ และช่วยให้การขยายตัวของเศรษฐกิจครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

และถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งหลังจากเกิดภาวะชะลอตัวแบบดิ่งลงของการลงทุนภาคเอกชนตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ไอเอ็มเอฟยังแนะนำให้ไทยเร่งส่งเสริมการเข้ามามีส่วนร่วมของประชากรวัยทำงาน ซึ่งจะช่วยให้ไทยบรรเทาผลกระทบจากปัญหาประชากรวัยทำงานหดตัวลงสืบเนื่องจากภาวะประชากรสูงวัยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วลงได้

ตัวอย่างเช่น การส่งเสริมผู้หญิงให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในตลาดแรงงาน แม้ว่าสัดส่วนการมีส่วนร่วมในการทำงานของสตรีในไทยจัดได้ว่าสูงกว่าระดับมาตรฐานนานาชาติอยู่แล้วก็ตาม

แต่แรงงงานสตรียังคงมีจำนวนน้อยกว่าผู้ชายอย่างชัดเจน

การที่รัฐบาลสนับสนุนให้มีบริการดูแลเด็กนอกจากจะช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการทำงานของสตรีแล้วยังส่งผลดีต่อผลิตภาพของแรงงานอีกด้วย

ไอเอ็มเอฟมองว่าเศรษฐกิจภาคบริการของไทยกำลังขยายตัว สอดรับกับการปฏิวัติดิจิตอลของรัฐบาล เพื่อเพิ่มผลิตภาพ

และเห็นด้วยกับการส่งเสริมระบบจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ระดับชาติของรัฐบาลไทยเมื่อเร็วๆ นี้ที่จะช่วยให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สุดท้ายไอเอ็มเอฟเห็นด้วยกับความพยายาม “อัพเกรด” อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ที่เคยเป็นจุดแข็งของเศรษฐกิจไทย ให้ขยายออกไปสู่ “แหล่งที่มาของการเติบโตใหม่ๆ” เช่น หุ่นยนต์, อากาศยาน และเทคโนโลยีชีวภาพ

แต่การส่งเสริมการศึกษาและการริเริ่มการฝึกอบรมใหม่ๆ ก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่ออัพเกรด “ชุดของทักษะ” ใหม่ๆ ตั้งแต่วันนี้เพื่อรองรับกับงานใหม่ๆ ในอนาคต

คือสิ่งที่จำเป็นต้องทำอย่างยิ่งยวดเช่นเดียวกัน

ที่มากราฟ : ไอเอ็มเอฟ,2018