ปปง.ผนึกกำลังเครือข่าย อัดยาแรง เล็งยึดทรัพย์ เว็บ”พนันออนไลน์” เฝ้าระวังบัญชีต่อสงสัย

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ที่โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส ถนนพระยาไท พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. พร้อมด้วย พล.ต.อ.ธนิตศักดิ์ ธีระสวัสดิ์ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบช.ทท. เจ้าหน้าที่ตำรวจท่องเที่ยว ตัวแทนสถาบันการเงิน 36 แห่ง ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแนวทางการประสานงานระหว่างศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงาน ปปง. กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์

พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ กล่าวว่า ตามนโยบายรัฐบาลซึ่งให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญและเพิ่มความเข้มข้นในการป้องกันปราบปรามการพนันออนไลน์ โดยเฉพาะขณะนี้เป็นช่วงที่มี  การแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 นั้นสำนักงาน ปปง. เล็งเห็นว่า เพื่อให้การดำเนินการสัมฤทธิ์ผลตามนโยบายของรัฐบาลดังกล่าว จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมกำหนดมาตรการในการปฏิบัติ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถาบันการเงินทั้ง 36 แห่ง รวมทั้ง TELCO (ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์และ e – money) โดยเบื้องต้น เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมหารือระดับผู้บริหารเพื่อขับเคลื่อนการปฏิบัติร่วมกันไปแล้ว

พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ กล่าวอีกว่า ในวันนี้ ( 18 มิถุนายน) ได้มีเชิญระดับผู้ปฏิบัติมาประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความความเข้าใจและความชัดเจน โดยจะได้มีการกำหนดมาตรการในการปฏิบัติให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรมร่วมกัน ดังนี้ 1.ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงาน ปปง. จะดำเนินการสืบสวนทางไซเบอร์ บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เกี่ยวกับการลักลอบการพนันออนไลน์ในทุกมิติ (ในรูปแบบสายตรวจ Cyber และการรวบรวมพยานหลักฐานทางคดี ) โดยจะมีการประสานการปฏิบัติกับสํานักงานตํารวจแห่งชาติอย่างใกล้ชิด 2.เมื่อมีการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดพนันออนไลน์  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะประสานข้อมูลมายังสำนักงาน ปปง. เพื่อใช้มาตรการในการยึดอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด กับผู้ลักลอบเล่นการพนัน ผู้เป็นจ้าของบัญชี เจ้าของเว็ปไซต์ ผู้จัดให้มีการเล่นการพนันและผู้รับประโยชน์แท้จริงอย่างครบวงจร 3.สำหรับ สถาบันการเงินทั้ง 36 แห่ง และ TELCO จะมีมาตรการในการเฝ้าระวัง (Monitor) บัญชี  ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับการพนันออนไลน์ และหากตรวจพบบัญชีต้องสงสัยก็จะรายงานไปยังศูนย์ป้องกันและปราบปรามการพนันออนไลน์ สำนักงาน ปปง. ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อการสืบสวนขยายผลในทันที

พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากคดีพนันออนไลน์แล้ว ยังได้มีแนวทางที่จะยกระดับการปฏิบัติและขยายขอบเขตการดำเนินการร่วมกันให้ครอบคลุมทั้ง 26 มูลฐานความผิด และแต่ละหน่วยงานจะได้กำหนด     POC ( Person of contact ) เพื่อให้การบูรณาการและการขับเคลื่อนเป็นไปด้วยความรวดเร็วมีประสิทธิภาพ       เท่าทันเหตุการณ์ ทั้งนี้จึงขอฝากเตือนพี่น้องประชาชน รวมถึงนิสิตนักศึกษาและผู้ปกครอง ให้ช่วยเตือนบุตรหลาน ไม่ให้เข้าไป    ยุ่งเกี่ยวกับการพนันออนไลน์โดยเด็ดขาด เพราะนอกจากจะต้องถูกดำเนินคดีอาญาแล้ว อาจจะต้องถูกยึดอายัดทรัพย์สินอย่างจริงจังและหากพี่น้องประชาชนพบเห็นบุคคลใดที่มีพฤติการณ์เกี่ยวกับการพนันออนไลน์สามารถแจ้งเบาะแสมาที่สายด่วน ปปง. 1710

ด้านพล.ต.อ.ธนิตศักดิ์ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค.60 ศูนย์ป้องกันปราบปรามการฉ้อโกงประชาชนผ่านระบบโทรศัพท์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ศป.ฉปทน.ตร.)ได้ร่วมกับ ปปง.และเครือข่ายธนาคารทุกแห่งในประเทศไทย ดำเนินการระงับยับยั้งเงินของผู้เสียหายที่ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงไปได้อย่างรวดเร็ว และส่งคืนเงินให้แก่ผู้เสียหาย จำนวน 114 ราย มูลค่ารวมประมาณ 22 ล้านบาท โดยได้คืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่ผู้เสียหายเป็นที่เรียบร้อย ทั้งนี้ ก็เกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายในการดำเนินการร่วมกันแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ที่ถูกหลอกลวงจากกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์

พล.ต.อ.ธนิตศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในวันนี้ ทาง ปปง., ตร. และธนาคารทุกแห่งในประเทศ ได้จัดสัมมนาเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือ ดังนี้ 1.การดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการเงินของคนร้ายในเชิงลึกเพื่อยึดทรัพย์ดังกล่าว และดำเนินคดีฟอกเงินกับบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกราย 2.การหามาตรการแก้ไขปัญหาการระงับยับยั้งเงินของผู้เสียหายอย่างทันท่วงที และเพิ่มวิธีป้องกันเงินของผู้เสียหายที่จะถูกหลอกลวง และถอนออกจากบัญชี 3.การสร้างเครือข่ายการเฝ้าระวังระหว่างธนาคารด้วยกัน ในการยักย้ายถ่ายโอนเงินของคนร้าย ระหว่างธนาคารด้วยกัน โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องประสานงานการปฏิบัติ 4.การตรวจสอบข้อมูลของคนร้ายที่ใช้ธนาคารทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการสืบสวนติดตามจับกุมคนร้ายต่อไปทั้งนี้ เชื่อแน่ว่าในการจัดสัมมนาครั้งนี้จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานที่ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป